เข้าพรรษา

วันเข้าพรรษานี้ ในบาลีมีชื่อเรียกสองอย่าง คือเข้าพรรษาเรียกว่า วัสสูปวาส จำพรรษาเรียกว่า วัสสาวาส กำหนด ๓ เดือน คือตั้งแต่แรม ๑ ค่ำ เดือน ๘ ถึงกลางเดือน ๑๑ ซึ่งระยะนี้เป็นฤดูฝน

การเข้าพรรษานี้ เป็นพิธีหนึ่งที่นับเนื่องอยู่ในขนบธรรมเนียมประ เพณีนิยมของพวกเราชาวไทย ที่นับถือพระพุทธศาสนา ดังนั้น เมื่อถึงวัน เช่นนี้ พุทธศาสนิกชนจึงต่างไปประชุมบำเพ็ญกุศลกันในวัด หรือตามสถาน ที่ซึ่งจัดทำขึ้นเพื่อการพิธีทางศาสนาโดยเฉพาะ

เหตุที่จะเกิดให้มีการเข้าพรรษานี้ ก็เนื่องด้วยประเพณีของชาวมัธยมประเทศโบราณ เมื่อถึงฤดูฝนต้องงดการไปต่างเมืองชั่วคราว เช่น ผู้ที่เคยเที่ยวไปมาจากเมืองโน้นไปเมืองนี้ พ่อค้าเที่ยวค้าขายก็มี ผู้ที่วางตัวเป็นนักบวชไม่มีห่วงใยเที่ยวไปเที่ยวมาอยู่ เช่น พวกเคยรถีย์และปริพพาชกถือลัทธิต่าง ๆ ก็ดี เมื่อถึงฤดูฝน ณ ที่ใด ต้องหยุดพัก ณ ที่นั้นตลอด 3 เดือน แล้วจึงออกเดินทางต่อไป ที่เป็นดังนี้ เพราะทางเดินเป็นหล่มไปมาไม่สะดวก นอกจากนี้ยังจะถูกน้ำบ่าไหลท่วมอีกด้วย ถึงแม้สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งเสด็จจาริกไปมาอยู่ในเมืองต่าง ๆ มิได้ประทับอยู่ในเมืองใดเมืองหนึ่งเป็นประจำ เมื่อถึงฤดูฝน พระองค์ก็หยุดประทับในเมืองใดเมืองหนึ่งเหมือนคนอื่น ๆ ตอนแรกพระยังมีน้อย ถึงฤดูฝนท่านก็หยุดจาริกตามลำพังของท่านเอง เช่นเดียวกับสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงประพฤติอยู่ ไม่ต้องตั้งเป็นธรรมเนียมขึ้น และก็ไม่มีเหตุอันใดที่พระพุทธองค์จะทรงบัญญัติให้พระสงฆ์อยู่จำพรรษา การก็สงบมา จนกระทั่งมีภิกษุมากขึ้น วันหนึ่งพระพุทธองค์ประทับอยู่ที่เมืองราชคฤห์ มีพระพวกหนึ่งเรียกว่าฉัพพัคคีย์มีรูปด้วยกัน ไม่รู้จักกาล แม้ในฤดูฝนก็ยังจาริกไปมา เที่ยวเหยียบย่ำข้าวกล้าหญ้าระบัดสัตว์เล็ก ๆ จนผู้คนพากันติเตียนว่า แม้พวกเคยรถีย์ ปริพพาชกก็ยังหยุด ที่สุดนกยังรู้ทำรังบนยอดไม้เพื่อหลบหนีฝน แต่พระสมณศากยบุตรทำไมมาเที่ยวอยู่ทั้ง 3 ฤดู เหยียบหญ้าและต้นไม้ที่เป็นของเป็นอยู่ ทำสัตว์ทั้งหลายให้ตายเป็นอันมาก ความทราบถึงสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระองค์จึงทรงบัญญัติเป็นธรรมเนียมไว้ว่า เมื่อถึงฤดูฝนให้ภิกษุจำพรรษา คืออยู่ประจำที่ในฤดูฝนในที่แห่งเดียวตลอดฤดูฝน เป็นเวลา 3 เดือน คือตั้งแต่แรม 1 ค่ำ เดือน 8 ถึงกลางเดือน 11 เรียกว่า เข้าพรรษา ด้วยเหตุดังนี้ จึงได้เกิดมีการเข้าพรรษาสืบมาจนทุกวันนี้ เมื่อได้ทราบถึงเหตุของการเข้าพรรษาแล้ว ก็ควรจะทราบหน้าที่ที่พุทธศาสนิกชนจะพึงปฏิบัติในวันเช่นนี้ต่อไป ซึ่งจะได้แยกออกเป็นพิธีสงฆ์ พิธีหลวง พิธีราษฎร์