การพัฒนาระบบรดน้ำอัตโนมัติตามความชื้นดิน กรณีศึกษา : แปลงปลูกผักเศรษฐกิจ อ.ปทุมรัตต์ จ.ร้อยเอ็ด

ชื่อนักเรียนผู้จัดทำโครงงานวิทยาศาสตร์

ไชยวัฒน์ ภูแผ่นนา, ปณิธาน เกตุชมภู, ภูธเนศ วงษ์ชาดี

อาจารย์ที่ปรึกษาโครงงานวิทยาศาสตร์

ไสว วีระพันธ์, บัวไลย์ สิมงาม

โรงเรียนที่กำกับดูแลโครงงานวิทยาศาสตร์

โรงเรียนปทุมรัตต์พิทยาคม

ปีที่จัดทำโครงงานวิทยาศาสตร์

พ.ศ. 2566

บทคัดย่อโครงงานวิทยาศาสตร์

โครงงานวิทยาศาสตร์ สาขาวิศวกรรมศาสตร์ เรื่อง “การพัฒนาระบบรดน้ำอัตโนมัติตามความชื้นดิน กรณีศึกษา : แปลงปลูกผักเศรษฐกิจ อ.ปทุมรัตต์ จ.ร้อยเอ็ด” โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อพัฒนาระบบตรวจวัดความชื้นดิน ความชื้นอากาศ และอุณหภูมิอากาศ พร้อมแสดงผลข้อมูลสภาพแวดล้อม และพัฒนาระบบรดน้ำอัตโนมัติตามความชื้นดิน ในแปลงปลูกผักเศรษฐกิจ พร้อมทั้งศึกษาประสิทธิภาพของระบบดังกล่าว โดยเปรียบเทียบปริมาณผลผลิตที่ได้ในแปลงปลูกผักเศรษฐกิจที่ใช้ระบบรดน้ำอัตโนมัติตามความชื้นดินที่สร้างขึ้นกับการรดน้ำโดยใช้แรงงานคน การพัฒนาระบบรดน้ำอัตโนมัติตามความชื้นดิน จะใช้บอร์ดไมโครคอนโทรลเลอร์ (microcontroller) ESP32 ทำงานร่วมกับเซนเซอร์ตรวจวัดอุณหภูมิและความชื้นอากาศและใช้เซนเซอร์ Soil Moisture Sensor Module ตรวจวัดความชื้นในดิน ในแต่ละแปลงแล้วแสดงผลข้อมูลสภาพแวดล้อมผ่านจอ LCD I2C และผ่านสมาร์ทโฟนด้วยแอพพลิเคชัน Blynk IOT และระบบรดน้ำอัตโนมัติจะควบคุมการรดน้ำพืชแต่ละแปลงด้วยโซลูนอยด์วาล์วเพื่อให้ความชื้นของดินแต่ละแปลงอยู่ระหว่าง 50%-69% ซึ่งระบบรดน้ำอัตโนมัติตามความชื้นดิน ที่สร้างนี้จะช่วยให้เกษตรกรมีข้อมูลของสภาพแวดล้อมของแต่ละแปลง และควบคุมความชื้นดินแต่ละแปลงให้เหมาะสมต่อการเจริญเติบโตของผักเศรษฐกิจ และลดปริมาณการใช้แรงงานคน

ผลการศึกษา เป็นดังนี้

  1. ระบบรดน้ำอัตโนมัติตามความชื้นดิน สามารถตรวจวัดความชื้นอากาศ อุณหภูมิอากาศ และความชื้นดิน ใช้งานบอร์ดไมโครคอนโทรลเลอร์ (microcontroller) ESP32 ควบคุมการทำงานเซนเซอร์ แล้วแสดงผลผ่านจอ LCD I2C และแสดงผลด้วยสมาร์ทโฟน ผ่าน Application Blynk IoT

  2. ระบบรดน้ำอัตโนมัติตามความชื้นดิน สามารถควบคุมการรดน้ำอัตโนมัติที่สัมพันธ์กับความชื้นดิน

  3. ผักเศรษฐกิจที่ดูแลการรดน้ำด้วยระบบรดน้ำอัตโนมัติตามความชื้นดินมีอัตราการเจริญเติบโตและผลผลิตที่มากกว่าการรดน้ำด้วยแรงคน

คำสำคัญ : ระบบรดน้ำอัตโนมัติ, ความชื้นดิน, ผักเศรษฐกิจ