ประสิทธิภาพของสารสกัดหยาบจากใบสาบเสือ ย่านาง ทองพันชั่งและชะมวง ในการยับยั้งแบคทีเรีย Erwinia carotvora subsp. Carotovorum สาเหตุโรคเน่าเละในพืช

ชื่อนักเรียนผู้จัดทำโครงงานวิทยาศาสตร์

นาเดีย หมัดนุรักษ์, ธัณญภัสร์ เชื้อพราหมณ์

อาจารย์ที่ปรึกษาโครงงานวิทยาศาสตร์

ทิชากร สัตย์จริง

โรงเรียนที่กำกับดูแลโครงงานวิทยาศาสตร์

โรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย ปทุมธานี

ปีที่จัดทำโครงงานวิทยาศาสตร์

พ.ศ. 2561

บทคัดย่อโครงงานวิทยาศาสตร์

คนไทยส่วนใหญ่มีอาชีพเกษตรกรรมและ ประเทศไทยจะอาศัยการเกษตรกรรมและอุตสาหกรรมการเกษตรเป็นพื้นฐานสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ โดยเฉพาะพืชผลทางการเกษตรเป็นสินค้าที่ส่งออกที่สำคัญนำรายได้เข้าประเทศปีละมหาศาล และผลักดันประเทศไปเป็นศูนย์กลางการผลิตอาหารของโลก (ชนัดดา สุสมบูรณ์,2558) แต่ปัจจุบันการเกษตรได้รับผลกระทบจากปัญหาทางด้านสภาพอากาศ สภาพดิน และโรคต่างๆของพืช โดยเฉพาะโรคพืชนั้นส่งผลกระทบทำให้ปริมาณและคุณภาพต่ำลง เช่น โรคเหี่ยว โรคเน่าดำ โรคปุ่มปม โรคแคงเกอร์ และโรคเน่าเละ (พรพรรณ สุทธิแย้ม,2560)

โรคเน่าเละเป็นโรคที่ได้รับการจัดลำดับให้อยู่ในกลุ่มของโรคที่สำคัญมากโรคหนึ่งของพืชผักทั้งในด้านของการระบาดและความเสียหาย เป็นโรคที่แพร่หลายที่สุดโดยเฉพาะหากสิ่งแวดล้อมเหมาะสมความเสียหายจะเป็นไปอย่างรุนแรงมาก เป็นโรคที่สร้างความเสียหายให้กับพืชผักต่างๆ หลายชนิด เช่น กะหล่ำปลี ผักกาดขาว ผักกวางตุ้ง ผักกาดเขียวปลี แตงกวา ฟัก ฟักทอง มะเขือเทศ ถั่วลันเตา หอมใหญ่ มันเทศ มันฝรั่ง โดยโรคจะเกิดขึ้นกับทุกส่วนที่เป็นเนื้ออ่อนและอวบนํ้าของผักเหล่านี้ไม่ว่าจะเป็นลำต้น กิ่ง ก้าน ใบ ดอก ผล หัวหรือฝัก โดยเริ่มจากรอยแผลชํ้าฉ่ำนํ้า จุดเล็กๆ ขึ้นก่อน ต่อมาหากสิ่งแวดล้อมเหมาะสม แผลดังกล่าวจะขยายโตออกทั้งโดยรอบและลึกลงไปภายในเนื้ออย่างรวดเร็วขณะเดียวกันเนื้อเยื่อส่วนนี้ก็จะอ่อนยุบตัวลง ภายในเวลาเพียง 1 หรือ 2 วัน อาการเน่า จะกระจายออกไปอย่างกว้างขวางครอบคลุมทั้งส่วนของพืชที่ถูกเชื้อเข้าทำลายมักจะเกิดระบาดทำความเสียหายในฤดูฝน และจะรุนแรงยิ่งขึ้นขณะที่มีความชื้นและอุณหภูมิสูง โดยเฉพาะในช่วงที่มีฝนตกพรำ ติดต่อกันหลายๆ วัน ท้องฟ้ามีเมฆมาก แสงแดดน้อยเข้าลักษณะครึ้มฟ้าครึ้มฝน อุณหภูมิระหว่าง 30 – 35 องศาเซลเซียส ช่วงนี้หากเกิดการติดเชื้อขึ้นจะแพร่ขยายลุกลามออกไปอย่างรุนแรง จะสามารถพบได้ในการเจริญเติบโตทุกระยะ ซึ่งการป้องกันกำจัดโรคสามารถทำได้ทั้งวิธีทางเคมีและวิธีทางชีวภาพ (ไทยเกษตรศาสตร์,2556)

ปัจจุบันเกษตรกรนิยมเลือกสารเคมีที่สามารถหาซื้อได้ทั่วไปมาใช้ในการป้องกัน ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อร่างกายของผู้บริโภคและตัวของเกษตรกรเอง เนื่องจากสารตกค้างของสารเคมีที่เลือกใช้ เพื่อเป็นแนวทางในการหลีกเลี่ยง การสกัดสารธรรมชาติจึงเป็นอีกทางเลือกหนึ่งในการนำมาป้องกัน (รังสิมา เก่งการพานิช,2558) ซึ่งจากการศึกษางานวิจัยที่เกี่ยวกับสารสกัดหยาบจากพืชสามารถยับยั้งโรคพืชที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรียได้เป็นอย่างดี เช่น การยับยั้งเชื้อ Pseudomonas aeruginosa จากสารสกัดจากใบสาบเสือ (ปนิศา นมัสการ,2555) การยับยั้งเชื้อ Escherichia coli จากสารสกัดจากใบย่านาง (Chalerm & Sutthatip,2003) การยับยั้งเชื้อ Aeromonas hydrophila จากสารสกัดใบทองพันชั่ง (ทัศนีย์ นลวชัย.2559) และการยับยั้งเชื้อ Helicobacter pylori จากสารสกัดใบชะมวง (ลลิตา วีระเสถียร,2552)

ด้วยเหตุผลข้างต้นทำให้ผู้จัดทำโครงงานมีความสนใจที่จะศึกษาถึงประสิทธิภาพของสารสกัดหยาบจากสาบเสือ ย่านาง ทองพันชั่งและชะมวง ในการยับยั้งเชื้อ E. carotovora subsp. Carotovora และเปรียบเทียบประสิทธิภาพกับสารเคมีที่ใช้ในปัจจุบัน เพื่อเป็นทางเลือกในการหลีกเลี่ยงการใช้สารเคมีกำจัดโรคพืช อีกทั้งการนำผลที่ได้ไปประยุกต์ใช้ต่อไป