การปรับปรุงพัฒนาอิฐมอญเพื่อดูดซับเสียงจากไดอะตอมไมท์

ชื่อนักเรียนผู้จัดทำโครงงานวิทยาศาสตร์

เปมาวดี จันต๊ะวงค์, ปณาลี เหลี่ยมวัฒนา, ระพีพัฒน์ ฝอยทอง

อาจารย์ที่ปรึกษาโครงงานวิทยาศาสตร์

ยุวดี แสนทรงสิริ, ธนกร ชมภูรัตน์

โรงเรียนที่กำกับดูแลโครงงานวิทยาศาสตร์

โรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย เชียงราย

ปีที่จัดทำโครงงานวิทยาศาสตร์

พ.ศ. 2561

บทคัดย่อโครงงานวิทยาศาสตร์

มลพิษทางเสียงเป็นมลพิษอย่างหนึ่งที่ส่งผลกระทบต่อมนุษย์อย่างค่อนข้างมาก มลพิษทางเสียงมีที่มาได้จากหลากหลายแหล่ง อาทิ เสียงที่มาจากยานพาหนะ เสียงที่มาจากสถานบันเทิง และเสียงรบกวนจากการเปิดเครื่องขยายเสียง เป็นต้น นอกจากนั้นยังมีปัญหาเกี่ยวกับเสียงอีกมากมาย เช่น กรณีเราอยู่ในห้องที่มีผนังปิดรอบทิศย่อมเกิดปัญหาการได้ยินที่แย่ลง สาเหตุเกิดจากเสียงที่ปล่อยออกมาอาจทั้งจากคนพูดหรือจากลำโพงนั้นเกิดการสะท้อนกับผนังและเกิดเสียงก้องจนฟังไม่รู้เรื่องหรือจุดอับเสียงเกิดขึ้น ดังนั้นวัสดุดูดซับเสียงจึงเป็นวัสดุอีกประเภทหนึ่งที่มีความสำคัญมาก ปัจจุบันมีวัสดุหลายชนิดถูกจัดเป็นวัสดุที่มีสมบัติดูดซับเสียงที่ดี เช่น ใยหิน และเส้นใยแก้ว เป็นต้น อย่างไรก็ตามวัสดุสังเคราะห์เหล่านี้ล้วนเป็นอันตรายต่อร่างกายมนุษย์ ถ้าสูดดมเข้าร่างกาย หรือเมื่อสัมผัสกับผิวหนังจะทำให้เกิดการระคายเคืองผิว

ไดอะตอมไมท์เป็นวัสดุธรรมชาติที่มีทั้งความเป็นฉนวนทางความร้อนและเสียงที่ดี และมีความเป็นพิษ หรือเป็นอันตรายต่อร่างกายมนุษย์น้อยมาก นอกจากนี้ยังมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมต่ำ จากงานวิจัยของณัฐนันท์ และคณะ (2017) พบว่าเมื่อการนำไดอะตอมไมท์มาผสมกับดินเหนียวในอัตราส่วน 1:2 มีคุณสมบัติในการดูดซับสียงได้ดีที่สุดจากการทดลอง แต่การศึกษาดังกล่าวยังมิได้พิจารณาปริมาณน้ำที่ใช้ในการผสม ดังนั้นงานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อหาปริมาณน้ำที่เหมาะสม โดยอ้างอิงจากอัตราส่วนน้ำเดิม แล้วปรับสูตรอัตราส่วนของน้ำ เพื่อหาอัตราส่วนในการทำอิฐมอญสูตรผสมที่แม่นยำและแน่นอน โดยอัตราส่วนที่ใช้ในการศึกษานี้ ประกอบไปด้วย 1:2:1 1:2:1.5 1:2:2 1:2:2.5 (ไดอะตอมไมท์ : ดินเหนียว : น้ำ) นอกจากนั้นงานวิจัยนี้ได้ศึกษารูปแบบพื้นผิวของอิฐมอญผสมไดอะตอมไมท์ในการดูดซับเสียง โดยรูปแบบพื้นผิวที่พัฒนาประกอบไปด้วย ลายพีระมิดฐานสี่เหลี่ยม ลายคลื่น และลายขีดแนวทแยง สำหรับการทดสอบอิฐมอญผสมไดอะตอมไมท์ในงานวิจัยนี้ประกอบไปด้วย การทดสอบขนาดความหนาแน่น การดูดซึมน้ำ กำลังรับแรงอัด และการดูดซับเสียง โดยการทดสอบทั้งหมดอ้างอิงมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมอิฐก่อสร้างสามัญ และมาตรฐานสมาคมการทดสอบและวัสดุของอเมริกา (American Society for Testing and Materials, ASTM) สุดท้ายงานวิจัยนี้จะได้สรุปอัตราส่วนผสมและรูปแบบพื้นผิวที่เหมาะสมของอิฐมอญผสมไดอะตอมไมท์ที่ผ่านมาตรฐานสำหรับนำไปใช้เป็นวัสดุก่อได้

คำสำคัญ : ไดอะตอมไมท์ การดูดซับเสียง อิฐมอญแดง