การศึกษาระดับความสูงของน้ำท่วมที่มีผลต่อการอยู่รอดของต้นไม้

ชื่อนักเรียนผู้จัดทำโครงงานวิทยาศาสตร์

พิพรรษพร อุปการะ

อาจารย์ที่ปรึกษาโครงงานวิทยาศาสตร์

สุภิน ผิวสา

โรงเรียนที่กำกับดูแลโครงงานวิทยาศาสตร์

โรงเรียนสุรนารีวิทยา

ปีที่จัดทำโครงงานวิทยาศาสตร์

พ.ศ. 2565

บทคัดย่อโครงงานวิทยาศาสตร์

โครงงานการศึกษาระดับความสูงของน้ำท่วมที่มีผลต่อการอยู่รอดของต้นไม้” (Study the relative of flood level to the survival of plant) นี้เกิดขึ้นเนื่องจาก ปี พ.ศ 2564 พ่อแม่ของผู้พัฒนาโครงงานปลูกไม้เศรษฐกิจ บริเวณที่ราบลุ่มริมแม่น้ำ ซึ่งปลายฤดูฝนเกิดน้ำท่วมสูงเป็นระยะเวลานาน ทำให้ต้นไม้ที่ปลูกไว้ 5 ไร่ ตายทั้งหมด เพื่อแก้ปัญหาดังกล่าวผู้พัฒนาจึงต้องการศึกษาระดับความสูงของน้ำท่วมที่มีผลต่อการอยู่รอดของต้นไม้ โดยจะทำการทดลองปลูกต้นไม้ 3 ชนิดคือ ต้นยางนา ขี้เหล็ก และตะเคียนทอง ที่มีความสูงประมาณ 70 เซนติเมตรเหนือพื้นดิน ในถังพลาสติกสูงประมาณ 1 เมตร ในชุดการทดลองแรก จะนำต้นไม้ชนิดละ 3 ต้นใส่ลงในถัง (รวมถังละ 9 ต้น) จำนวน 3 ถัง แล้วใส่ดินในช่องว่างระหว่างต้นให้ดินเสมอระดับเดียวกัน จากนั้นเริ่มทดลองโดยจำลองการท่วมของน้ำ 3 ระดับ คือ ถังที่ 1 ระดับความสูงน้ำ 50% (35 เซนติเมตร) ถังที่ 2 ระดับความสูงน้ำ 75% (52.5 เซนติเมตร) และถังที่ 3 ระดับความสูงน้ำ 100% (70 เซนติเมตร) และคงระดับความสูงของน้ำท่วมไว้นาน 2 สัปดาห์ ก่อนที่จะลดระดับน้ำลงวันละ 1 เซนติเมตร โดยจดบันทึกข้อมูลการทดลองทุกวัน เป็นระยะเวลารวมทั้งสิ้น 45 วัน ข้อมูลที่จดบันทึกได้แก่ ระดับความสูงของน้ำ จำนวนต้นไม้ที่มีใบ จำนวนต้นไม้ที่ไม่เหลือใบ จำนวนต้นไม้ที่ลำต้นเน่า เพื่อยืนยันความถูกต้องของผลการทดลอง ผู้พัฒนาจะทำการทดลองทั้งหมดเพิ่มอีก 2 ชุดห่างกันชุดละ 1 สัปดาห์ จากนั้นนำข้อมูลการทดลองทั้ง 3 ชุด มาวิเคราะห์และสรุปผลการทดลอง

ผู้พัฒนาคาดหวังว่าข้อมูลจากการทดลองจะเป็นข้อมูลเบื้องต้น สำหรับผู้สนใจหรือเกษตรกร เพื่อนำไปประยุกต์ วางแผนการปลูกต้นไม้ในบริเวณพื้นที่ราบลุ่ม เพื่อให้ประสบความสำเร็จในการปลูกต้นไม้ มีอัตราการรอดของต้นไม้สูงขึ้น