การไฮโดรไลเซสโปรตีนจากถั่วพันธุ์พื้นเมืองเพื่อพัฒนาเป็นอาหารสำหรับเพาะเลี้ยงผึ้ง(Apis mellifera)ในฤดูแล้ง
- ชื่อนักเรียนผู้จัดทำโครงงานวิทยาศาสตร์
ธัญรดา ทิวาศิริ, อานนท์วัฒน์ เจริญศักดิ์
- อาจารย์ที่ปรึกษาโครงงานวิทยาศาสตร์
เกียรติศักดิ์ อินราษฎร, สุธิพงษ์ ใจแก้ว
- โรงเรียนที่กำกับดูแลโครงงานวิทยาศาสตร์
- ปีที่จัดทำโครงงานวิทยาศาสตร์
บทคัดย่อโครงงานวิทยาศาสตร์
การตายของผึ้งในช่วงฤดูแล้งเป็นปัญหาสำคัญของเกษตรกร การพัฒนาอาหารทดแทนเพื่อเพาะเลี้ยงผึ้งเป็นแนวทางหนึ่งในการแก้ปัญหาดังกล่าวข้างต้น โครงงานนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาผลของการไฮโดรไลซิสโปรตีนจากถั่วพันธุ์พื้นเมืองเพื่อพัฒนาเป็นอาหารทดแทนสำหรับเพาะเลี้ยงผึ้งพันธุ์ในฤดูแล้ง โดยแบ่งเป็น 2 การทดลอง ดังนี้ การทดลองที่ 1 การพัฒนาอาหารเทียมในการเพาะเลี้ยงผึ้งในช่วงฤดูแล้งจากการไฮโดรไลซิสถั่วพันธุ์พื้นเมือง โดยทำการคัดเลือกถั่วพันธุ์พื้นเมือง ได้แก่ ถั่วแปบ (Lablab purpureus) ถั่วลิสงลายเสือ (Arachis hypogaea) ถั่วแดงหลวง (Vigna angularis) ถั่วมะแฮะ (Cajanus cajan) และถั่วแป๋ (Vigna umbellate) ที่สามารถดึงดูดผึ้งให้มากินมากที่สุดเมื่อนำมาผลิตเป็นอาหารเทียม โดยนำถั่วแต่ละชนิดมาต้มให้สุก บดและผสมกับน้ำผึ้ง เกสรผึ้ง น้ำตาล ผสมกันด้วยอัตราส่วน 1:4:24:2 นำไปทดสอบพฤติกรรมเลือกชอบของผึ้งงาน พบว่าถั่วแป๋สามารถดึงดูดผึ้งงานให้มากินมากที่สุด และถั่วแป๋ยังมีปริมาณโปรตีนที่เป็นองค์ประกอบสูงกว่าถั่วชนิดอื่นๆ ในการทดลองต่อมาได้นำถั่วแป๋มาไฮโดรไลซิสด้วยเอนไซม์โปรตีเอสจากผลไม้ 3 ชนิด ได้แก่ แกนสับปะรด ยางมะละกอ และแก้วมังกร พบว่าอาหารเทียมที่ได้จากถั่วแป๋มาไฮโดรไลซิสด้วยเอนไซม์โปรตีเอสจากแกนสับปะรดทำให้ผึ้งงานมากินมากที่สุด ในการทดลองที่ 2 ได้ศึกษาผลการใช้อาหารเทียมในการเพาะเลี้ยงผึ้งในช่วงฤดูแล้งจากการไฮโดรไลซิสถั่วพันธุ์พื้นเมืองต่อคุณภาพของผลิตภัณฑ์และการตายของผึ้งที่เพาะเลี้ยง โดยนำอาหารเทียมจากถั่วแป๋ที่ไฮโดรไลซิสด้วยโปรตีเอสจากแกนสับปะรดไปวางบนคอนกลางรัง ทุกๆ 3 วัน เป็นเวลา 30 วัน พบว่าผึ้งที่ได้รับอาหารเทียมมีกิจกรรมหน้ารังเพิ่มมากขึ้นแสดงให้เห็นว่าผึ้งมีภาวะความเครียด (stress) ลดลง ช่วยลดการตายของผึ้งในฤดูแล้งให้ต่ำกว่าชุดควบคุมถึง 56% เทียบกับอาหารเทียมของเกษตรกร อีกทั้งยังทำให้ผลิตภัณฑ์ภายในรังผึ้ง ได้แก่ ถ้วยตัวอ่อน ถ้วยน้ำผึ้ง ถ้วยเกสรและไขผึ้งเพิ่มสูงขึ้น โดยไม่มีผลกระทบต่อคุณภาพน้ำผึ้ง