ความสัมพันธ์ของการสร้างปมรากของต้นอ่อนไมยราบยักษ์กับปริมาณธาตุอาหารในดิน เพื่อใช้ประเมินคุณภาพดินโดยไม่ใช้สารเคมีสำหรับพื้นที่ทางการเกษตร

ชื่อนักเรียนผู้จัดทำโครงงานวิทยาศาสตร์

ธิดาเทวัญ เกิดศิริ, ปิ่นปินัทฐ์ หัตถผะสุ

อาจารย์ที่ปรึกษาโครงงานวิทยาศาสตร์

เกียรติศักดิ์ อินราษฎร

โรงเรียนที่กำกับดูแลโครงงานวิทยาศาสตร์

โรงเรียนดำรงราษฎร์สงเคราะห์

ปีที่จัดทำโครงงานวิทยาศาสตร์

พ.ศ. 2566

บทคัดย่อโครงงานวิทยาศาสตร์

ไมยราบยักษ์เป็นวัชพืชที่สามารถขึ้นในทุกสภาพพื้นที่ด้วยมีการสร้างปมรากของแบคทีเรียไรโซเบียมช่วยในการตรึงไนโตรเจนในอากาศโดยเฉพาะดินตะกอนน้ำพา จากการสังเกตพบว่าในแต่ละพื้นที่จะมีลักษณะทางสัณฐานและจำนวนปมรากดังกล่าวแตกต่างกัน ในขณะที่การวิเคราะห์ปริมาณธาตุอาหารในดินเพื่อประเมินความเหมาะสมในการเพาะปลูกนั้นจำเป็นต้องมีการใช้สารเคมีที่มีราคาสูงและเป็นพิษกับสิ่งแวดล้อม โครงงานนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อความสัมพันธ์ของการสร้างปมรากของต้นอ่อนไมยราบยักษ์กับปริมาณธาตุอาหารในดินเพื่อใช้ประเมินคุณภาพดินโดยไม่ใช้สารเคมีสำหรับพื้นที่ทางการเกษตร โดยสุ่มเก็บตัวอย่างดินจากพื้นที่ดินตะกอนน้ำพาริมแม่น้ำ จำนวน 30 จุด วิเคราะห์ปริมาณธาตุอาหารและลักษณะทางสัณฐานวิทยาและปริมาณสร้างปมรากของต้นอ่อนไมยราบยักษ์ จากนั้นวิเคราะห์ความสัมพันธ์ของปริมาณธาตุอาหารในดินกับการสร้างปมรากของไมยราบยักษ์ พบความสัมพันธ์เชิงเส้นตรงของปริมาณแอมโมเนียและไนเตรตในดินกับจำนวนปมรากไมยราบในต้นอ่อนอายุ 10 วัน อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ จากนั้นนำความสัมพันธ์ดังกล่าวมาทดสอบความแม่นยำในการวิเคราะห์ปริมาณแอมโมเนียและไนเตรตในดิน โดยการเพาะเมล็ดไมยราบยักษ์ในดินที่มีปริมาณแอมโมเนียและไนเตรตแตกต่างกัน พบว่ามีค่าความแม่นยำสูงถึง 98 และ 92% ซึ่งสูงกว่าการใช้ชุด kit ที่ใช้สารเคมีในการตรวจสอบและยังมีราคาต่ำกว่า โครงงานนี้จะเป็นแนวทางหนึ่งในการนำกลไกการปรับตัวเข้ากับสิ่งแวดล้อมของพืชมาใช้ให้เกิดประโยชน์และยังช่วยควบคุมการกระจายพันธุ์ของพืชรุกรานได้อีกทางหนึ่ง