การศึกษาประสิทธิภาพของปุ๋ยน้ำจากปัสสาวะต่อการเจริญเติบโตของอ้อยพันธุ์ขอนแก่น 3 ในระยะงอกถึงระยะแตกกอ พื้นที่อำเภอชุมแพ จังหวัดขอนแก่น
- ชื่อนักเรียนผู้จัดทำโครงงานวิทยาศาสตร์
ภควัฒน เต็มลา, อธิป โชครัตนกาญจน์, จตุภัทร เท่าธุรี
- อาจารย์ที่ปรึกษาโครงงานวิทยาศาสตร์
ราชันย์ ต้นกันยา, อภิวัฒน์ ศรีกัณหา
- โรงเรียนที่กำกับดูแลโครงงานวิทยาศาสตร์
- ปีที่จัดทำโครงงานวิทยาศาสตร์
บทคัดย่อโครงงานวิทยาศาสตร์
การศึกษาประสิทธิภาพของปุ๋ยน้ำจากปัสสาวะต่อการเจริญเติบโตของอ้อยพันธุ์ขอนแก่น 3 ในระยะงอก ถึงระยะแตกกอ พื้นที่อำเภอชุมแพ จังหวัดขอนแก่น มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) ศึกษาสมบัติทางกายภาพและสมบัติทางเคมีของปุ๋ยน้ำจากปัสสาวะ 2) ศึกษาปริมาณธาตุอาหารหลักในดินที่รดด้วยปุ๋ยน้ำจากปัสสาวะ และ 3) ศึกษาการเจริญเติบโตของอ้อยพันธุ์ขอนแก่น 3 ในระยะงอกถึงระยะแตกกอ โดยทำการศึกษา ดังนี้ ขั้นตอนที่ 1 การตรวจวัดสมบัติทางกายภาพ (อุณหภูมิ) และสมบัติทางเคมี (ค่าความเป็นกรด-เบส, pH) ของปุ๋ยน้ำจากปัสสาวะ ซึ่งเป็นการนำปัสสาวะมาเจือจางด้วยน้ำจากสระน้ำผิวดินที่ใช้เก็บน้ำตามธรรมชาติของโรงเรียน ก่อนนำไปรดบำรุงดิน จำนวน 3 ช่วง (ก่อนปลูก, หลังการปลูก 1 เดือน และหลังการปลูก 2 เดือน) โดยแบ่งเป็น 5 ชุดการทดลอง คือ ชุดที่ 1 น้ำจากสระ, ชุดที่ 2 ปุ๋ยเคมีเจือจางด้วยน้ำ, ชุดที่ 3 ปัสสาวะต่อน้ำ อัตราส่วน 1 : 1, ชุดที่ 4 ปัสสาวะต่อน้ำ อัตราส่วน 1 : 10, และชุดที่ 5 ปัสสาวะต่อน้ำ อัตราส่วน 1 : 20 ขั้นตอนที่ 2 การตรวจวัดปริมาณธาตุอาหารหลักในดิน ที่รดด้วยปุ๋ยน้ำจากปัสสาวะ โดยทำการเตรียมกระถางสำหรับปลูกอ้อย จำนวน 5 แถว แถวละ 10 กระถาง รวม 50 กระถาง และเตรียมท่อนพันธุ์อ้อย จำนวน 100 ท่อน ท่อนละ 2 ข้อตา จากนั้นทำการปลูกอ้อย กระถางละ 2 ท่อน และรดบำรุงดิน ตามชุดการทดลองในขั้นตอนที่ 1 ทำการตรวจวัดอุณหภูมิ ความชื้น ค่า pH ในดิน และเก็บตัวอย่างดินเพื่อตรวจวิเคราะห์ ธาตุอาหารหลักในดิน ตามวิธีการของ GLOBE Protocols และรายงานข้อมูล GLOBE Data Entry ซึ่งทำการตรวจวัด จำนวน 3 ช่วง ขั้นตอนที่ 3 ศึกษาการเจริญเติบโตของอ้อยพันธุ์ขอนแก่น 3 ในระยะงอกถึงระยะแตกกอ โดยการสังเกตและตรวจนับจำนวนต้นอ้อยที่งอก (1 เดือนหลังปลูก) และจำนวนต้นอ้อยที่แตกกอ (4 เดือนหลังปลูก)
คำสำคัญ : ปุ๋ยน้ำจากปัสสาวะ ธาตุอาหารหลักในดิน อัตราการงอกและการแตกกอของต้นอ้อย