การพัฒนาสูตรและการประเมินฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระและฤทธิ์ต้านน้ำตาลในเลือดสูงของผงชาปักษ์ใต้ผสมหญ้าหวาน

ชื่อนักเรียนผู้จัดทำโครงงานวิทยาศาสตร์

อิบติซาม มะเซ็ง, วันนูรร์ฟิรดาว อาแย

อาจารย์ที่ปรึกษาโครงงานวิทยาศาสตร์

ธัญญรัศม์ อุทัยพันธ์, วีรยา ตรีวรรณจุฑา

โรงเรียนที่กำกับดูแลโครงงานวิทยาศาสตร์

โรงเรียนสาธิตวิทยาการอิสลาม มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์

ปีที่จัดทำโครงงานวิทยาศาสตร์

พ.ศ. 2566

บทคัดย่อโครงงานวิทยาศาสตร์

ชาปักษ์ใต้เป็นชาที่มีรสฝาดและกลิ่นเฉพาะตัวเป็นเอกลักษณ์ซึ่งแตกต่างจากชาของภาคอื่น ๆ เนื่องจากใช้ส่วนผสมระหว่างใบชาหลากชนิด เช่น ชาซีลอน ชาแดง และชามาเลย์ จากรายงานวิจัยสนับสนุนพบว่าชาดำมีสารกลุ่มโพลีฟีนอล ฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ และฤทธิ์ลดระดับน้ำตาลในเลือดได้ดี แต่ชาปักษ์ใต้ที่นิยมชงดื่มกันนั้นต้องผสมน้ำตาล นม หรือครีมเทียม เพื่อเพิ่มความหวานมัน ซึ่งทำให้เกิดโทษต่อสุขภาพมากกว่าประโยชน์ที่จะได้รับจากสารสำคัญในชา งานวิจัยนี้จึงมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาสูตรชาปักษ์ใต้ชนิดผงที่มีส่วนผสมของสารสกัดหญ้าหวานซึ่งให้ความหวานแทนน้ำตาลและศึกษาหาความเข้มข้นของชาแต่ละสูตรที่มีปริมาณสารต้านอนุมูลอิสระสูงและยับยั้งเอนไซม์แอลฟ่าเอนไซม์กลูโคซิเดสได้ดีโดยไม่มีพิษต่อเซลล์ โดยเตรียมชาตำรับภาคใต้กับผงหญ้าหวานในสัดส่วนต่างๆร่วมกับ maltodextrin - DE10 และนำไปทำผงแห้งด้วยวิธี spray dry จากนั้นนำมาศึกษาหาปริมาณสารประกอบฟีนอลิกทั้งหมดด้วยวิธี Folin-ciocalteu assay ศึกษาฤทธิ์การต้านอนุมูลอิสระด้วยวิธี ABTS และ DPPH assay ศึกษาฤทธิ์ยับยั้งกิจกรรมของเอนไซม์ α-glucosidase ด้วย p-nitrophenyl-α-D-glucopyranoside assay และตรวจสอบความเป็นพิษต่อเซลล์เยื่อบุลำไส้ด้วย MTT assay ซึ่งความรู้ที่ได้จากการศึกษาวิจัยครั้งนี้สามารถนำมาใช้พัฒนาต้นแบบผงชาปักษ์ที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ โดยเฉพาะผู้ที่ต้องควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดต่อไป