ระบบการคัดกรองลูกกุ้งคุณภาพสูงด้วยนวัตกรรมปัญญาประดิษฐ์เพื่ออุตสาหกรรมการเพาะเลี้ยงกุ้งขาวแวนนาไม

ชื่อนักเรียนผู้จัดทำโครงงานวิทยาศาสตร์

ปฏิพนธ์ ติยะปัญจนิตย์, ทินภัทร เสียมไหม

อาจารย์ที่ปรึกษาโครงงานวิทยาศาสตร์

ณัฏฐินี มั่นคงวงศ์ศิริ, ขุนทอง คล้ายทอง

โรงเรียนที่กำกับดูแลโครงงานวิทยาศาสตร์

โรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย ปทุมธานี

ปีที่จัดทำโครงงานวิทยาศาสตร์

พ.ศ. 2565

บทคัดย่อโครงงานวิทยาศาสตร์

กุ้งขาวเเวนนาไมเป็นสัตว์น้ำจากการเพาะเลี้ยงที่มีมูลค่าเป็นอับดับ 1 ของโลก มีอัตราส่วนสูงถึง 95 เปอร์เซ็นต์ในตลาดกุ้งไทยแต่ปัจจุบันกลับพบปัญหาโรคระบาดของกุ้งขาวที่สร้างความเสียหายเป็นอย่างมาก เช่น โรคตายด่วน โรคตัวแดงดวงขาว หรือโรคหัวเหลือง จากการสืบค้นเเละลงพื้นที่ของคณะผู้จัดทำพบว่า การรับลูกกุ้งด้อยคุณภาพจากโรงเพาะฟักมาเลี้ยงเป็นปัจจัยสำคัญต่อการเกิดโรคระบาด แนวทางการแก้ปัญหาที่สำคัญคือเทคโนโลยีอย่างง่ายที่ช่วยให้เกษตรกรสามารถตรวจคุณภาพลูกกุ้งเบื้องต้นได้ด้วยตนเอง โดยการใช้ภาพถ่ายจากกล้องสมาร์ทโฟนในการพัฒนาระบบคัดกรองลูกกุ้งคุณภาพสูงด้วยนวัตกรรมปัญญาประดิษฐ์ ให้ระบบจดจำลักษณะทางกายภาพของลูกกุ้งคุณภาพดีและไม่ดี ที่มีอัตรารอดตายสูงและต่ำแตกต่างกันจากการทดสอบความทนทานต่อความเครียดอย่างฉับพลัน การปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อม และระยะเวลาที่ส่งผลให้ลูกกุ้งเข้าสู่สภาพอ่อนแรงเป็นตัวชี้วัดร่วม ลูกกุ้งจะถูกถ่ายภาพในหลายมุมมอง ทั้งยังเพิ่มข้อมูลที่ผ่านการปรับค่าแสงและระดับของความคมชัดที่หลากหลายเพื่อให้โมเดลสามารถรองรับการใช้งานอย่างแม่นยำ หากรูปภาพที่ผู้ใช้ส่งเข้ามาประมวลผลมีคุณภาพที่ไม่สูงมาก จากการทดสอบสถาปัตยกรรมที่แตกต่างกัน 3 ตัวได้แก่ ResNet50 , VGG16 และ EfficientNetB7 พบว่า EfficientNetB7 ได้ให้ค่าความแม่นยำในการจำแนกคุณภาพลูกกุ้งสูงสุดที่ 95.4 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งจากผลการศึกษาพบว่าเว็ปแอพลิเคชั่นที่พัฒนาขึ้นมีศักยภาพช่วยให้เกษตรกรสามารถใช้ตรวจคุณภาพลูกกุ้งได้และสามารถเลือกซื้อลูกกุ้งที่มีคุณภาพได้อย่างมีประสิทธิภาพ