การศึกษาอัตราส่วนที่เหมาะสมและเปรียบเทียบสมบัติทางกายภาพของฟิล์มจากแป้งข้าวเหนียวร่วมกับเส้นใยจากกาบกล้วยน้ำว้ากับฟิล์มพลาสติก PE เพื่อพัฒนาเป็นฟิล์มห่ออาหาร

ชื่อนักเรียนผู้จัดทำโครงงานวิทยาศาสตร์

สหัชพน ชำนาญวาด, ศรัณย์ อยู่ร่วมใจ, ภักดิ์มาตุภูมิ ปริศนานันทกุล

อาจารย์ที่ปรึกษาโครงงานวิทยาศาสตร์

ชิตพงษ์ เหนือเกาะหวาย

โรงเรียนที่กำกับดูแลโครงงานวิทยาศาสตร์

โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์

ปีที่จัดทำโครงงานวิทยาศาสตร์

พ.ศ. 2563

บทคัดย่อโครงงานวิทยาศาสตร์

ประเทศไทยนิยมใช้ฟิล์มห่ออาหารจากพลาสติกพอลิเอทิลีน (PE) ที่ใช้ในการห่ออาหารเพื่อรักษาความสดใหม่เป็นระยะเวลานาน ซึ่งมีสารเคมี พาทาเลต ประกอบอยู่เพื่อช่วยเพิ่มความอ่อน หากได้รับสารตัวนี้เข้าไปมาก ๆ จะเสี่ยงเป็นโรคความดันโลหิตสูง และทำลายไต ในปัจจุบันจึงมีการพัฒนาพลาสติกจากแป้งเพื่อลดอันตรายต่อร่างกาย แต่ก็มีข้อจำกัดคือเปราะและต้านทานน้ำได้ต่ำ ซึ่งปรับได้โดยเปลี่ยนแป้งดิบเป็นแป้งเทอร์โมพลาสติกสตาร์ชผ่านการเติมกลีเซอรอลผสมยูเรีย และการเติมเส้นใยเซลลูโลส จากการศึกษาข้อมูลเบื้องต้นพบว่าแป้งข้าวเหนียวมีค่าความเหนียวที่มากที่สุด ซึ่งเสริมด้วยเส้นใยเซลลูโลสจากกาบกล้วยน้ำว้าที่มาค่าความเหนียวที่สุด โครงงานเรื่องนี้จึงมีวัตถุประสงค์คือ 1) เพื่อศึกษาสมบัติทางกายภาพของฟิล์มห่ออาหารจากแป้งข้าวเหนียวร่วมกับเส้นใยจากกาบกล้วยน้ำว้าในอัตราส่วนที่ต่างกัน และ 2) เพื่อเปรียบเทียบสมบัติทางกายภาพของฟิล์มห่ออาหารจากแป้งข้าวเหนียวร่วมกับเส้นใยจากกาบกล้วยน้ำว้ากับฟิล์มห่ออาหารจากพลาสติก PE โดยนำเส้นใยจากกาบกล้วยน้ำว้ามาบดและผสมกับแป้งเทอร์โมพลาสติกสตาร์ชจากนั้นนำไปขึ้นรูปและทดสอบการต้านทานต่อแรงดึง การทนความร้อน อัตราการซึมผ่านของก๊าซ และอัตราการซึมผ่านของไอน้ำ และผู้จัดทำคาดว่าโครงงานเรื่องนี้จะสามารถสร้างฟิล์มห่ออาหารจากแป้งข้าวเหนียวร่วมกับเส้นใยจากกาบกล้วยน้ำว้า ให้เป็นวัสดุทางเลือกในการห่ออาหารได้ โดยไม่เกิดอันตรายต่อร่างกาย ย่อยสลายได้ตามธรรมชาติ และสามารถเพิ่มมูลค่าให้กับแป้งข้าวเหนียวและกาบกล้วยน้ำว้าที่เป็นวัสดุเหลือทิ้งการเกษตร