ผลิตภัณฑ์น้ำยางธรรมชาติสำหรับพื้นคอกแพะ

ชื่อนักเรียนผู้จัดทำโครงงานวิทยาศาสตร์

ชณิษา บิลยะแม, นัสวาเนีย บาเส็ม

อาจารย์ที่ปรึกษาโครงงานวิทยาศาสตร์

ซีตีไซยีดะห์ สายวารี, เทียนทิพย์ ไกรพรม

โรงเรียนที่กำกับดูแลโครงงานวิทยาศาสตร์

โรงเรียนสาธิตวิทยาการอิสลาม มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์

ปีที่จัดทำโครงงานวิทยาศาสตร์

พ.ศ. 2565

บทคัดย่อโครงงานวิทยาศาสตร์

บทคัดย่อ

ในปัจจุบันพบว่าประเทศไทยตอนใต้เป็นพื้นที่ที่มีการเลี้ยงแพะมากที่สุดในประเทศ โดยส่วนใหญ่จะนิยมเลี้ยงกันในโรงเรือน แต่เมื่อเวลาผ่านไปสักระยะเราจะพบว่าพื้นไม้ระแนงคอกมักผุกร่อนง่าย ไม่ทนทานต่อน้ำและความชื้น มีอายุการใช้งานเพียงแค่ 2-3 ปี เกษตรกรจึงต้องปรับปรุงซ่อมแซมพื้นคอกอยู่ตลอด ผู้พัฒนาได้เล็งเห็นความสำคัญในเรื่องนี้ จึงคิดค้นผลิตภัณฑ์น้ำยางธรรมชาติสำหรับเคลือบพื้นคอกแพะ เพื่อยืดอายุการใช้งานของพื้นไม้ นอกจากจะช่วยเกษตรกรประหยัดค่าใช้จ่ายในการเปลี่ยนพื้นไม้แล้ว ยังช่วยเพิ่มมูลค่าให้กับยางพาราซึ่งเป็นพืชเศรษฐกิจของภาคใต้ได้อีก โดยจะทำการศึกษาสมบัติเบื้องต้นของผลิตภัณฑ์จากน้ำยางพาราเช่นปริมาณของแข็งทั้งหมด ปริมาณสารที่ระเหยได้ ความหนืด ระดับการวัลคาไนซ์ และระยะเวลาการแข็งตัว เป็นต้น ก่อนจะนำไปทดลองจริงเคลือบพื้นโรงเรือนแพะและจะทำการศึกษาพฤติกรรมของแพะเช่น การล้มตัวนอน การปัสสาวะ และการอุจจารเปรียบเทียบระหว่างพื้นไม้ปกติกับพื้นไม้ที่เคลือบด้วยน้ำยาง โดยจะทำการทดลองดังนี้1.เตรียมคอกแพะสำหรับทดลองไว้ 4 คอก โดยแบ่งเป็นคอกพื้นไม้จำนวน 2 คอกและคอกพื้นไม้ที่เคลือบด้วยน้ำยางเคลือบ 2 คอก 2.ติดตั้งกล้องวงจรปิดอินฟาเรดไว้ในคอกแพะคอกละ 1 ตัว เพื่อบันทึกพฤติกรรมของแพะ 3.ใช้แพะทดลองจำนวน 4 ตัว โดยจะเป็นแพะตัวเมียทั้งหมด แบ่งแพะให้อยู่ในแต่ละประเภทคอก คอกละ 1 ตัว 4.ทำการทดสอบพฤติกรรมของแพะ โดยจะทดสอบคุณสมบัติต่างๆในพื้นคอกทั้ง 4 คอก คือ ทดสอบพฤติกรรมการนอน (Laying behavior) ทดสอบความถี่ในการนอนของแพะ โดยจะบันทึกเป็นจำนวนครั้งต่อวัน ทดสอบการปัสสาวะและขับมูล (Elimination behaviour) ทดสอบความถี่ในการปัสสาวะและขับ บันทึกความถี่ต่อวัน จะทำการบันทึกข้อมูลเป็นระยะเวลา 2-10 วัน 5.ทำการสลับกลุ่มแพะจากพื้นคอกไม้ไปอยู่ในพื้นคอกไม้ที่เคลือบด้วยน้ำยางและทำการทดสอบตามข้อ 4 และ 6.นำผลจากการทดสอบมาเปรียบเทียบความแตกต่างระหว่างแพะที่อยู่ในพื้นไม้กับแพะที่อยู่ในพื้นไม้ที่เคลือบด้วยน้ำยาง