การพัฒนาภาชนะท้องถิ่นสำหรับการโพชชิ่งปลาทูสายพันธุ์ Rastrelliger brachysoma และ Rastrelliger kanagurta เพื่อรักษาคุณภาพและความสมบูรณ์ของปลาทูก่อนจำหน่าย

ชื่อนักเรียนผู้จัดทำโครงงานวิทยาศาสตร์

สโรชา เสวตสุวรรณ, ภัทรธิดา กุมภาพันธ์, นิติภูมิ แก้วสืบ

อาจารย์ที่ปรึกษาโครงงานวิทยาศาสตร์

ไพศาล แมลงทับทอง

โรงเรียนที่กำกับดูแลโครงงานวิทยาศาสตร์

โรงเรียนถาวรานุกูล

ปีที่จัดทำโครงงานวิทยาศาสตร์

พ.ศ. 2565

บทคัดย่อโครงงานวิทยาศาสตร์

โครงงานนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างขนาดของปลาทูสายพันธุ์ Rastrelliger brachysoma และ Rastrelliger kanagurta กับขนาดของภาชนะท้องถิ่นที่ใช้ในการโพชชิ่งปลาทูทั้งสองสายพันธุ์ และเพื่อพัฒนาภาชนะท้องถิ่นดังกล่าวให้สามารถปรับขนาดได้เหมาะสมกับขนาดของปลาทูทั้งสองสายพันธุ์ซึ่งเป็นสายพันธุ์ปลาที่มีการจำหน่ายอย่างแพร่หลายและส่งผลต่อสภาพเศรษฐกิจความเป็นอยู่ของคนในจังหวัดสมุทรสงคราม

การจัดทำโครงงานในครั้งนี้ ทางคณะผู้จัดทำได้ศึกษาลักษณะทางกายภาพของปลาทูสายพันธุ์ Rastrelliger barchysoma และ Rastrelliger kanagurta เพื่อสร้างเกณฑ์ในการกำหนดขนาดของตัวปลาโดยใช้แบบจำลองทางคณิตศาสตร์ในการคำนวณขนาดซึ่งพิจารณาความสัมพันธ์ของตัวแปรสี่ตัว ได้แก่ ตัวแปรอิสระ คือ ความกว้าง ความยาว และ ความหนาของปลาทู และมีตัวแปรตาม คือ น้ำหนักของปลาทู โดยทางคณะผู้จัดทำได้นำน้ำหนักของปลาทูมากำหนดเกณฑ์ให้มีความสอดคล้องกับเกณฑ์ในการกำหนดราคาปลาให้เป็นมาตรฐานเพื่อที่จะนำปลาทูในเกณฑ์เดียวกันมาเข้าคู่ภายในภาชนะท้องถิ่นก่อนนำไปโพชชิ่ง ในลำดับต่อไปเนื่องจากต้องการคงความเป็นเอกลักษณ์ของจังหวัดสมุทรสงครามดังคำขวัญที่ว่า “ปลาทูแม่กลอง หน้างอคอหัก” จึงต้องมีการหักหรืองอหัวปลาทูเพื่อให้เข้ารูปกับภาชนะท้องถิ่น ทางคณะผู้จัดทำจึงดำเนินการหาค่าองศาเฉลี่ยในการหักหรืองอหัวปลาทูทั้งสองสายพันธุ์ให้เหมาะสมกับภาชนะท้องถิ่น จากนั้นหาความสัมพันธ์ระหว่างขนาดของตัวปลาทูที่เข้าคู่กันกับขนาดของภาชนะท้องถิ่นที่ใช้บรรจุปลาทูสำหรับการโพชชิ่งก่อนจำหน่ายโดยใช้แบบจำลองทางคณิตศาสตร์ในการหาความสัมพันธ์ดังกล่าวซึ่งมีตัวแปรอิสระ คือ ความกว้างและความยาวของปลาทูที่เข้าคู่กันและมีตัวแปรตาม คือ เส้นผ่านศูนย์กลางของภาชนะท้องถิ่นที่ใช้บรรจุปลาทู และกำหนดความสูงของภาชนะท้องถิ่นโดยการพิจารณาค่าความหนาเฉลี่ยของตัวปลาแต่ละสายพันธุ์ สุดท้ายทางคณะผู้จัดทำได้นำความสัมพันธ์ข้างต้นมาดำเนินการสร้างและพัฒนานวัตกรรมภาชนะท้องถิ่นที่ใช้ในการโพชชิ่งปลาทูโดยอาศัยแบบจำลองทางคณิตศาสตร์ให้สามารถปรับขนาดได้ เพื่อความเหมาะสมกับขนาดของปลาทูที่เข้าคู่กัน และรักษาไว้ซี่งคุณภาพความสมบูรณ์ของปลาทูไม่ให้เกิดพื้นที่ว่างมากจนเกินไป ทำให้เกิดความไม่สมบูรณ์หรือเกิดการซ้อนทับกันของภาชนะท้องถิ่นก่อนการโพชชิ่ง