การควบคุมวัชพืชด้วยสารกำจัดวัชพืชจากเชื้อราขนมปังที่หมดอายุ
- ชื่อนักเรียนผู้จัดทำโครงงานวิทยาศาสตร์
จักรพรรดิ นามวงค์, ณัฏฐณิชา สมฤทธิ์, จุฑามาศ ถาโถม
- อาจารย์ที่ปรึกษาโครงงานวิทยาศาสตร์
ธนาศักดิ์ กองโกย
- โรงเรียนที่กำกับดูแลโครงงานวิทยาศาสตร์
- ปีที่จัดทำโครงงานวิทยาศาสตร์
บทคัดย่อโครงงานวิทยาศาสตร์
ปัญหาจากวัชพืชที่ทำให้ผลผลิตทางการเกษตรลดลง ส่งผลให้เกษตรกรใช้สารเคมีกำจัดวัชพืช จนส่งผลเสียต่อสุขภาพของมนุษย์และสิ่งแวดล้อมทั้งทางตรงและทางอ้อม แม้ว่าจะมีการศึกษาการกำจัดวัชพืชโดยชีววิธี เช่น การนำของเหลวที่ได้จากการใช้เชื้อรา Rhizopus stolonifer และ Trichoderma koningiopsis หมักแช่น้ำกับเปลือกกุ้งและเปลือกส้ม ฉีดพ่นบนใบวัชพืช Crocus sativus ซึ่งพบว่าสามารถสร้างความเสียหายได้ แต่งานวิจัยที่มีการทดลองกับวัชพืชชนิดอื่นตามท้องถิ่น รวมถึงการใช้เศษอาหารชนิดอื่นที่ใช้หมัก ยังคงมีอยู่อย่างจำกัด งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อกำจัดวัชพืชแบบชีววิธีโดยใช้น้ำหมักชีวภาพจากเชื้อราจากขนมปัง คือ Rhizopus sp. ด้วยเศษอาหารที่หาได้ในท้องถิ่น คือ เปลือกสับปะรด นำมาฉีดพ่นบนใบของวัชพืช 3 ชนิด ได้แก่ วัชพืชตีนตุ๊กแก หญ้าหมอน้อย หญ้าแห้วหมู และพืชเศรษฐกิจ 2 ชนิด ได้แก่ ข้าวเหนียว กข 6 และข้าวโพดหวาน จากนั้นสังเกตความเสียหาย วัดพื้นที่ความเสียหายด้วยโปรแกรม ImageJ เพื่อคำนวณอัตราความเสียหายเปรียบเทียบกับการทดลองชุดควบคุมคือ น้ำกลั่น และสารกำจัดวัชพืชที่หมักโดยไม่ได้ใส่เชื้อรา โดยทำการทดลอง 2 สภาวะ ได้ผลดังนี้ สภาวะที่ 1 ทำการทดลองในจานเพาะเชื้อ พบว่า สร้างอัตราความเสียหายต่อใบหญ้าหมอน้อยมากที่สุด (100%) เนื่องจากเชื้อราเจริญและเข้าทำลายได้ทั่วทั้งใบ สร้างความเสียหายบางส่วนต่อตีนตุ๊กแก (43.64-52.38%) โดยเกิดอาการใบไหม้ และข้าวโพด (39.51-47.17%) โดยเกิดอาการเหี่ยวที่พบในชุดการทดลองควบคุมเหมือนกัน และสภาวะที่ 2 ทำการทดลองบนต้นจริงพบว่า สร้างความเสียหายบางส่วนต่อใบหญ้าแห้วหมู (44.42%) โดยเกิดอาการปลายใบไหม้ และข้าวโพด (50.58%) โดยเกิดอาการใบเหลือง โดยสาเหตุที่ไม่พบอัตราความเสียหายในหญ้าหมอน้อยและวัชพืชตีนตุ๊กแกอาจมาจากการถูกชะล้างจากการรดน้ำ ดังนั้นจึงมีแนวทางการพัฒนาต่อยอดโดยเติมสารจับใบหรือTween 80 ขณะฉีดพ่น เพื่อให้สารกำจัดวัชพืชสามารถจับกับใบพืชได้ดียิ่งขึ้น และเนื่องจากทั้ง 2 สภาวะ แทบไม่สร้างความเสียหายต่อใบข้าว ผลงานวิจัยนี้มีศักยภาพที่จะนำไปสู่การกำจัดวัชพืชในแปลงนาข้าวมากกว่าในแปลงข้าวโพด แต่หากต้องการใช้ในแปลงข้าวโพดควรฉีดพ่นสารกำจัดวัชพืชก่อนทำการปลูก