การศึกษาศักยภาพของสารสกัดจากฝักคูนต่อการกำจัดหนอนใยผัก

ชื่อนักเรียนผู้จัดทำโครงงานวิทยาศาสตร์

ภทรภร อุทัด, เปรมพิศุทธิ์ ธีระกุลพิศุทธิ์

อาจารย์ที่ปรึกษาโครงงานวิทยาศาสตร์

นิสา จุลโพธิ์

โรงเรียนที่กำกับดูแลโครงงานวิทยาศาสตร์

โรงเรียนสงวนหญิง

ปีที่จัดทำโครงงานวิทยาศาสตร์

พ.ศ. 2562

บทคัดย่อโครงงานวิทยาศาสตร์

โครงงานวิทยาศาสตร์ เรื่อง การศึกษาศักยภาพของสารสกัดจากฝักคูนต่อการกำจัดหนอนใยผัก (Study on potential of seed extracts of Cassia fistula Against Plutella xylostella Linnaeu) แบ่งการศึกษาออกเป็น 4 ขั้นตอน ดังนี้ การทดลองที่ 1 ศึกษาสารพฤกษเคมีกลุ่มแอนทราควิโนจากส่วนต่างๆ ของฝักคูน พบว่าสารสกัดหยาบชั้นเอทานอลจากส่วนต่างๆ ของฝักคูนแก่พบปริมาณสารพฤกษเคมีกลุ่มแอนทราควิโนนทุกส่วน โดยพบมากในส่วนเปลือกของฝักคูนแก่แบบสด การทดลองที่ 2 เปรียบเทียบปริมาณสารพฤกษเคมีกลุ่มแอนทราควิโนนจากส่วนเปลือกของฝักคูนอ่อนกับฝักคูนแก่ พบว่าสารสกัดหยาบชั้นเอทานอลจากส่วนเปลือกของฝักคูนอ่อนพบปริมาณสารพฤกษเคมีกลุ่มแอนทราควิโนนมากกว่าสารสกัดหยาบชั้นเอทานอลจากส่วนเปลือกของฝักคูนแก่ การทดลองที่ 3 ศึกษาประสิทธิภาพของสารสกัดหยาบจากส่วนของฝักคูนที่มีผลต่อการกำจัดหนอนใยผักด้วยวิธีการต่างๆ พบว่า สารสกัดหยาบจากส่วนเปลือกของฝักคูนอ่อนแบบสด ที่มีความเข้มข้น 50% w/v มีประสิทธิภาพในการกำจัดหนอนใยผักได้ทั้ง 3 วิธี โดยพบว่าสารสกัดหยาบจากส่วนเปลือกของฝักคูนอ่อนแบบสดมีประสิทธิภาพในการไล่หนอนใยผักได้ดีกว่าวิธีการกำจัดหนอนใยผักด้วยวิธีการตายโดยการสัมผัส และวิธีการตายจากการกิน ตามลำดับ และการทดลองที่ 4 ศึกษาความเข้มข้นสารสกัดหยาบจากส่วนของฝักคูนที่มีผลต่อการไล่หนอนใยผักในกระถางผักกวางตุ้งในแปลงปลูก พบว่าความเข้มข้นของสารสกัดหยาบจากส่วนเปลือกของฝักคูนอ่อนแบบสดทุกความเข้มข้นมีประสิทธิภาพในการไล่หนอนใยผักได้ โดยดูจากการไม่พบ ความพรุนของใบผักกวางตุ้งในกระถางที่วางในแปลงปลูกของเกษตรกรที่ปลูกผักแบบไม่ใช้สารฆ่าแมลง