เข็มขัดดูดซับความชื้นและให้ธาตุอาหารจากวัสดุเหลือทิ้งในชุมชนเพื่อการดูแลท่อนพันธุ์อ้อยระยะแรกปลูก

ชื่อนักเรียนผู้จัดทำโครงงานวิทยาศาสตร์

ธนวิชญ์ น้ำใจดี, ฟิวเจอร์ ศรีธัญรัตน์, มัธติกา ธัญญาโกศล

อาจารย์ที่ปรึกษาโครงงานวิทยาศาสตร์

สุธิพงษ์ ใจแก้ว, เกียรติศักดิ์ อินราษฎร

โรงเรียนที่กำกับดูแลโครงงานวิทยาศาสตร์

โรงเรียนดำรงราษฎร์สงเคราะห์

ปีที่จัดทำโครงงานวิทยาศาสตร์

พ.ศ. 2563

บทคัดย่อโครงงานวิทยาศาสตร์

ปัญหาภัยแล้งและการถูกแมลงศัตรูเข้าทำลายเป็นปัญหาสำคัญท่อนพันธุ์อ้อยระยะแรกปลูก การศึกษาครั้งนี้จึงมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาวัสดุดูดซับความชื้นและป้องกันแมลงศัตรูจากชานอ้อยและกาวเจลลาตินจากเกล็ดปลา โดยออกแบบให้เหมาะสมต่อการนำไปใช้ควบคุมการเจริญเติบโตของท่อนพันธุ์อ้อยร่วมกับการให้ปุ๋ยแคลเซียมฟอสเฟตจากเกล็ดปลา โดยแบ่งวิธีการออกแบบ 4 ตอน ดังนี้ ตอนที่ 1 ศึกษาวิธีการและปัจจัยที่เหมาะสมสำหรับการสกัดเจลาตินจากเกล็ดปลานวลจันทร์ พบว่า การแช่เกล็ดปลานวลจันทร์ในสารละลาย NaOH ความเข้มข้นความเข้มข้น 0.3 M นาน 8 ชั่วโมง แล้วนำไปแช่ด้วยสารละลายกรด HCl ความเข้มข้น 0.1 M ตามลำดับ และนำไปต้มสกัดนาน 120 นาที จะทำให้ได้ปริมาณเจลาตินมากที่สุด โดยเมื่อนำไปต้มแล้วเติมกลีเซอรีน 10 cm3 ในสารสกัดเจลาติน 100 cm3 จะทำให้เกิดสมบัติการเป็นกาว ส่วนเกล็ดปลาที่เหลือซึ่งเป็นส่วนประกอบของแคลเซียมฟอสเฟตสามารถนำ NaOH มาต้มลดขนาดโดยใช้เวลา 60 นาที ก่อนนำไปใช้ผสมเป็นปุ๋ยให้กับท่อนพันธุ์อ้อยระยะแรกปลูก ตอนที่ 2 การสกัดเส้นใยจากชานอ้อยที่เหมาะสมต่อการใช้เป็นวัสดุดูดซับ พบว่า การต้มชานอ้อยด้วยสารละลาย NaOH ความเข้มข้น 0.3 M นาน 60 นาที จะได้เส้นใยที่มีความเหมาะสมต่อการดูดซับความชื้นและการประสานด้วยกาวเจลาตินได้ดีกว่าชุด30 และ 90 นาที ทั้งนี้ยังมีสมบัติในการอุ้มน้ำ การทนต่อแรงดึงเมื่ออิ่มตัวด้วยน้ำ และระยะเวลาในการคงสภาพการยึดเกาะได้ดี ตอนที่ 3 รูปร่างวัสดุดูดซับความชื้นที่เหมาะสมต่อการนำไปใช้กับท่อนพันธุ์อ้อยคือการตัดให้คล้ายกับเข็มขัดและสามารถรัดพันรอบได้ โดยเจาะช่องว่างตรงปลายไว้สำหรับการงอกของตาอ้อย ซึ่งจะทำให้วัสดุดูดซับความชื้นรัดยึดติดกับท่อนพันธุ์อ้อยได้ดีที่สุด ตอนที่ 4 การใช้วัสดุดูดซับความชื้นร่วมกับแคลเซียมฟอสเฟตมีต่อการเจริญเติบโตของท่อนพันธุ์อ้อยระยะแรกปลูกได้ดี และมีเมื่อใช้ร่วมกับสารสกัดจากสะเดาจะทำให้มีประสิทธิภาพในการป้องกันแมลงศัตรูได้ดีขึ้น ราคาการผลิตชิ้นละ 2 บาท การศึกษาครั้งนี้จะเป็นแนวทางการพัฒนาเกษตรด้วยหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน BCG Economy ในการดูแลสุขภาพพืชและสิ่งแวดล้อมต่อไป