การสังเคราะห์อนุภาคเงินนาโนโดยใช้สารสกัดแทนนินจากใบหูกวางเพื่อประยุกต์ใช้ในการทดสอบและตรวจจับสารอะซิโตน

ชื่อนักเรียนผู้จัดทำโครงงานวิทยาศาสตร์

ถลัษนันท์ ยะหอม

อาจารย์ที่ปรึกษาโครงงานวิทยาศาสตร์

มนัส สิทธิโชคธรรม

โรงเรียนที่กำกับดูแลโครงงานวิทยาศาสตร์

โรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย เพชรบุรี

ปีที่จัดทำโครงงานวิทยาศาสตร์

พ.ศ. 2565

บทคัดย่อโครงงานวิทยาศาสตร์

อะซิโตนเป็นสารระเหยที่มีการใช้กันอย่างแพร่หลายในอุตสาหกรรม ห้องปฏิบัติการและโรงงานเภสัชกรรม เป็นสารติดไฟและระเบิดได้อีกทั้งการสัมผัสสารอะซิโตนที่มีความเข้มข้นสูงก็ส่งผลเสียโดยอาจทำลายดวงตา จมูก และระบบประสาทได้ นอกจากนี้ยังพบการปลดปล่อยอะซิโตนออกมาจากร่างกายมนุษย์ด้วย ซึ่งอะซิโตนที่ออกมาสามารถบ่งบอกถึงการทำงานของร่างกาย จากที่กล่าวมาข้างต้นจึงได้มีการพัฒนาตัวตรวจจับอะซิโตนกันอย่างต่อเนื่อง แต่ก็ล้วนมีข้อเสีย ทั้งความยุ่งยากในการใช้งาน ราคาที่แพง หรือข้อจำกัดในการประยุกต์ใช้งานในด้านต่างๆ ดังนั้นการศึกษาค้นคว้าและพัฒนาตัวตรวจจับใหม่ที่ใช้งานง่าย แม่นยำ มีความถูกต้องและเสถียร จึงเป็นประเด็นที่ผู้จัดทำตั้งเป้าในการศึกษา โดยในงานวิจัยนี้ได้ศึกษาในการนำอนุภาคเงินขนาดนาโนมาประยุกต์ใช้ในการตรวจจับและทดสอบกับอะซิโตน การศึกษาเริ่มจากหาอุณหภูมิที่เหมาะสม ระยะเวลาในการสังเคราะห์ และความเข้มข้นของสารละลาย silver nitrate ต่อสารสกัดแทนนินที่เหมาะสมที่สุดในการสังเคราะห์อนุภาคเงินขนาดนาโน แล้วจึงนำอนุภาคเงินขนาดนาโนไปศึกษาประสิทธิภาพในการตรวจจับและทดสอบกับสารละลายอะซิโตน โดยวัดค่าการดูดกลืนแสงที่เปลี่ยนแปลงไปของสารละลายอนุภาคเงินขนาดนาโนที่ระยะเวลาในการทำปฏิกิริยาและความเข้มข้นของสารละลายอะซิโตนที่ทดสอบด้วยเครื่อง UV-VIS Spectophotometer