การสังเคราะห์ลูมินอลจากพลาสติกแรป เพื่อนำไปสู่การหาร่องรอยเลือด

ชื่อนักเรียนผู้จัดทำโครงงานวิทยาศาสตร์

ปรีดาพร ลิ้มไล้, มนรดา เย็นกลม

อาจารย์ที่ปรึกษาโครงงานวิทยาศาสตร์

สวิชญา เหลาโชติ

โรงเรียนที่กำกับดูแลโครงงานวิทยาศาสตร์

โรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย เพชรบุรี

ปีที่จัดทำโครงงานวิทยาศาสตร์

พ.ศ. 2562

บทคัดย่อโครงงานวิทยาศาสตร์

ขยะพลาสติกในประเทศไทยเป็นปัญหาใหญ่ที่ต้องได้รับการแก้ไข ซึ่งโครงงานนี้ได้ทำการศึกษาการสังเคราะห์ลูมินอลและทราบว่าพลาสติกจำพวกพีวีซีสามารถนำมาสังเคราะห์เป็นสารลูมินอลที่ใช้ในการตรวจสอบหาร่องรอยเลือดได้ วัตถุประสงค์ของโครงงานครั้งนี้เพื่อศึกษาวิธีการสังเคราะห์ลูมินอลจากพลาสติกจำพวกพีวีซีซึ่งเป็นการใช้ขยะให้เกิดประโยชน์สูงสุดและลดต้นทุนในการสังเคราะห์ลูมินอล โดยจะผ่านกระบวนการสังเคราะห์ 3 ขั้นตอน คือ การสังเคราะห์พทาลิคแอนไฮไดรด์ ต่อด้วยการสังเคราะห์กรด 3 – ไนโตรพทาลิคและการสังเคราะห์ลูมินอล ผลการทดลองพบว่าลูมินอลที่สังเคราะห์ขึ้นสามารถตรวจสอบร่องรอยเลือดได้จริงและแสดงค่า λmax เท่ากับ 302.5 นาโนเมตร เมื่อนำไปทดสอบกับเลือดในอัตราส่วน 1 : 1 พบว่าประสิทธิภาพในการเรืองแสงของลูมินอล ที่สังเคราะห์ขึ้นน้อยกว่าลูมินอลมาตรฐานเมื่อทำการเปรียบเทียบ จากการทำโครงงานครั้งนี้ทำให้ทราบว่าพลาสติกจำพวกพีวีซีสามารถนำมาสังเคราะห์เป็นลูมินอลเพื่อใช้ในการตรวจหาร่องรอยเลือดได้จริงและนำมาใช้ในทางนิติวิทยาศาสตร์ได้