โปรตีนไฮโดรไลเซทจากกากถั่วเหลืองเพื่อทดแทนแหล่งไนโตรเจนในการเพาะเลี้ยง Aurantiochytrium sp.

ชื่อนักเรียนผู้จัดทำโครงงานวิทยาศาสตร์

ธนกร เฮงสุนทร, พิมพ์วลัญช์ เกษรบุบผา

อาจารย์ที่ปรึกษาโครงงานวิทยาศาสตร์

สุเปญญา จิตตพันธ์, เทพปัญญา เจริญรัตน์

โรงเรียนที่กำกับดูแลโครงงานวิทยาศาสตร์

โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย รังสิต

ปีที่จัดทำโครงงานวิทยาศาสตร์

พ.ศ. 2563

บทคัดย่อโครงงานวิทยาศาสตร์

ศึกษาการผลิตโปรตีนไฮโดรไลเซทจากกากถั่วเหลือง (Okara) โดยมุ่งเน้นการศึกษาไปที่ผลของปัจจัย 3 ปัจจัย ได้แก่ ความเข้มข้นของกรดไฮโดรคลอริค อุณหภูมิ และระยะเวลาของกระบวนการ ต่อการผลิตโปรตีนไฮโดรไลเซทจากกากถั่วเหลือง และเพื่อศึกษาการใช้โปรตีนไฮโดรไลเซทจากกากถั่วเหลืองในฐานะแหล่งไนโตรเจนทางเลือกสำหรับการเพาะเลี้ยง Aurantiochytrium sp. โดยนำกากถั่วเหลืองที่ผ่านกระบวนการอบและบดให้ละเอียด มาทำการย่อยกับกรดไฮโดรคลอริค (ความเข้มข้น 0.5, 1.0, 1.5 M) ในเครื่องออโต้เคลปที่อุณหภูมิ (110, 115, 120 ˚C) และระยะเวลา (20, 40, 60 นาที) ที่แตกต่างกัน ก่อนจะนำไปวัดปริมาณโปรตีนด้วยวิธี Bradford protein assay แล้วเลือกตัวอย่าง 5 ตัวอย่างที่มีปริมาณโปรตีนสูงสุด ไปวัดปริมาณน้ำตาลรีดิวซ์ ด้วยวิธี DNS method แล้วเลือกตัวอย่างที่ดีที่สุด ไปใช้เป็นส่วนประกอบของอาหารเลี้ยงเชื้อ Aurantiochytrium sp. โดยทำการเลี้ยงเชื้อ Aurantiochytrium sp. FIKU018 ในอาหารเลี้ยงเชื้อที่แตกต่างกัน 4 สูตร ได้แก่ GYP, GYPH, GPPH และ ฌPH เป็นระยะเวลา 72 ชั่วโมง โดยเก็บตัวอย่างทุก ๆ 24 ชั่วโมง เพื่อนำมาวัดค่าน้ำหนักเซลล์แห้ง และค่าความหนาแน่นของเซลล์ในอาหารด้วยการวัดค่าการดูดกลืนแสงที่ความยาวคลื่น 600 nm ผลปรากฏว่า ที่ความเข้มข้นของกรดไฮโดรคลอริค 0.5 M อุณหภูมิ 120 ˚C และระยะเวลา 20 นาที เป็นสภาวะที่ได้ปริมาณโปรตีนและน้ำตาลรีดิวซ์สูงที่สุดที่ 2.23±0.03 g/L และ 4.77±0.07 g/L ตามลำดับ และเมื่อทดลองเลี้ยงเชื้อ Aurantiochytrium sp. FIKU018 ในอาหารเลี้ยงเชื้อที่แตกต่างกันเป็นระยะเวลา 72 ชั่วโมง พบว่า ที่ระยะเวลา 48 ชั่วโมง อาหารสูตร GYP มีค่าน้ำหนักเซลล์แห้งและความหนาแน่นของเซลล์สูงสุดที่ 10.80±1.30E และ 12.05±1.5 g/L ก่อนลดลงเหลือ 8.83±2.08E-01 และ 11.68±0.77 g/L ตามลำดับที่ระยะเวลา 72 ชั่วโมง ตามด้วยอาหารสูตร GPH; ที่ระยะเวลา 72 ชั่วโมง มีค่าน้ำหนักเซลล์แห้งและความหนาแน่นของเซลล์อยู่ที่ 10.02±0.73 และ 8.33±0.06 g/L ตามลำดับ ตามด้วยอาหารสูตร GPPH และ GYPH จึงสรุปได้ว่าอาหารสูตร GYP จะให้ผลลัพธ์ดีที่สุดในช่วง 48 ชั่วโมงแรกของการทดลอง และอาหารสูตร GPH จะให้ผลลัพธ์ที่ดีในช่วง 48 ชั่วโมงเป็นต้นไป จึงมีแนวโน้มที่จะสามารถใช้อาหารสูตร GPH ทดแทนอาหารสูตร GYP ได้ แต่ยังจะต้องมีการศึกษาเพิ่มเติมต่อไป