การเปรียบเทียบประสิทธิภาพของสารสกัดหยาบจากใบโหระพากับใบเสลดพังพอนตัวเมียในการกำจัดลูกน้ำยุงลาย

ชื่อนักเรียนผู้จัดทำโครงงานวิทยาศาสตร์

ปราณปรียา ทองเกตุ, ธัญวรัตม์ หนองขุ่นสาร

อาจารย์ที่ปรึกษาโครงงานวิทยาศาสตร์

สุกัญญา กึ่งกลาง

โรงเรียนที่กำกับดูแลโครงงานวิทยาศาสตร์

โรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย มุกดาหาร

ปีที่จัดทำโครงงานวิทยาศาสตร์

พ.ศ. 2566

บทคัดย่อโครงงานวิทยาศาสตร์

ในช่วงฤดูฝนของประเทศไทยมักประสบปัญหาการระบาดของโรคไข้เลือดออก เนื่องมาจากในช่วงฤดูฝนยุงลายจะแพร่พันธุ์ได้มากกว่าในช่วงปรกติ ซึ่งยุงลายเป็นพาหะของโรคไข้เลือดออก ที่มีการแพร่ระบาดสู่คนและสัตว์ ซึ่งที่ผ่านมาได้มีการนิยมใช้สารเคมีในการกำจัดลูกน้ำยุงลายซึ่งมีประสิทธิภาพสูงในการกำจัดลูกน้ำยุงลาย แต่ทำให้น้ำมีกลิ่นเหม็นจากสารเคมี และอาจเกิดอันตรายต่อผู้ที่แพ้สารเคมีรุนแรง อีกทั้งยังมีสารตกค้างซึ่งเป็นพิษต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของมนุษย์ คณะผู้จัดทำได้เล็งถึงปัญหา จึงได้ไปศึกษางานวิจัยต่างๆพบว่าสารสกัดจากสมุนไพรหลายชนิดมีฤทธิ์สามารถกำจัดลูกน้ำยุงลายได้ จึงได้เลือกสมุนไพรมาสองชนิดคือ ใบโหระพาและใบเสลดพังพอนตัวเมียซึ่งเป็นพืชที่มีตามธรรมชาติ หาได้ง่าย และมีสารฟลาโวนอยด์ ที่มีรายงานความเป็นพิษต่อแมลงขนาดเล็ก ผู้จัดทำจึงได้เลือกนำพืชทั้งสองชนิดมาทำการทดลอง โดยนำส่วนใบของพืชทั้งสองชนิดมาทำการสกัดด้วยการแช่หมัก จากนั้นทำการเตรียมลูกน้ำยุงลายด้วยวิธีการทางธรรมชาติ และทดสอบประสิทธิภาพของสารสกัดด้วยการนำลูกน้ำยุงลายไปใส่ในถาดพลาสติกที่มีฝาปิดที่เจาะรูขนาดเล็ก และใส่สารสกัดลงไปในน้ำ แล้วหาอัตราการตายของลูกน้ำยุงลายมาเปรียบเทียบกัน ผลจากการดำเนินงานวิจัย คือ 1) สารสกัดจากใบโหระพาและใบเสลดพังพอนตัวเมียสามารถกำจัดลูกน้ำยุงลายได้ 2) สารสกัดจากใบโหระพามีประสิทธิภาพในการกำจัดลูกน้ำยุงลายได้ดีกว่าสารสกัดจากใบเสลดพังพอน และประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับในครั้งนี้ คือ 1) เป็นแนวทางในการลดการปนเปื้อนของสารเคมีในชุมชน 2)พัฒนาพืชพื้นบ้านมาใช้ประโยชน์ 3)ทราบสารสกัดของใบโหระพาและเสลดพังพอนตัวเมียที่สามารถกำจัดลูกน้ำยุงลายได้ดี