การพัฒนาเครื่องอบแห้งพริกไทยควบคุมอัตโนมัติสำหรับผลิตพริกไทยแดงเกรดพรีเมี่ยม

ชื่อนักเรียนผู้จัดทำโครงงานวิทยาศาสตร์

วรรณธนา วงค์ศรีชา, พัทธนันท์ สุขช่วย

อาจารย์ที่ปรึกษาโครงงานวิทยาศาสตร์

พัชรา พงศ์มานะวุฒิ, อาภาศรี ชุ่มชื่น

โรงเรียนที่กำกับดูแลโครงงานวิทยาศาสตร์

โรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย ตรัง

ปีที่จัดทำโครงงานวิทยาศาสตร์

พ.ศ. 2566

บทคัดย่อโครงงานวิทยาศาสตร์

พริกไทยพันธุ์ปะเหลียน เป็นสินค้า GI (Geographical Indication) ของจังหวัดตรังมีเอกลักษณ์ที่โดดเด่น โดยเฉพาะพริกไทยแดงซึ่งมีกลิ่นหอมละมุนเหมือนผลไม้ ราคาต่อกิโลกรัมค่อนข้างสูง แต่ขั้นตอนการแปรรูปพริกไทยให้มีคุณภาพนั้นทำได้ยากเนื่องจากสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงบ่อย โครงงานนี้จึงมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาเครื่องอบแห้งพริกไทยโดยควบคุมอุณหภูมิ ความชื้น ภายในตู้อบ และศึกษาปัจจัยที่เกี่ยวข้องของตู้อบในกระบวนการอบแห้งพริกไทยให้ได้คุณภาพที่เหมาะสมกับปริมาณผลผลิตพริกไทยของเกษตรกรรายย่อย การออกแบบตู้ใช้หลักการ การพาความร้อน การแผ่รังสี กระจายความร้อน จากแสงแดด และฮีตเตอร์ ให้อุณหภูมิอยู่ในช่วง 40-45°C ผ่านระบบควบคุมอุณหภูมิควบคู่ไปกับการแสดงผลผ่านระบบ IoT เมื่อสร้างตู้อบพริกไทยแล้วนำไปทดสอบการอบพริกไทยสดแยกตามสีของเมล็ดเป็นเวลา 36 ชั่วโมง พบว่าอุณหภูมิและความชื้นในแต่ละชั้นของตู้อบพริกไทยมีค่าไม่แตกต่างกัน โดยมีค่าอุณหภูมิและความชื้นเฉลี่ย 43.8°C และ 33.8% ตามลำดับ และในการทดสอบคุณภาพของพริกไทยพบว่าค่าความชื้นของเมล็ดพริกไทยสูงกว่าเกณฑ์มาตรฐาน (ไม่เกิน 12%) โดยมีค่าเฉลี่ยแต่ละชั้นคือ 5.6% 5.5% 5.3% และ 4.8% ตามลำดับจากชั้นบน ในส่วนสีของพริกไทยหลังอบมีการเปลี่ยนเฉดสีเข้มขึ้นจากสีเดิมแต่อยู่ในเกณฑ์ที่เป็นที่ยอมรับของผู้ประกอบการ น้ำหนักคงเหลือของเมล็ดพริกไทยหลังอบแต่ละสี (สีเขียว สีเหลือง สีส้ม สีแดง) มีค่า 41.13% 42.18% 44.13% และ 45.61% ตามลำดับ ซึ่งมีร้อยละน้ำหนักคงเหลือมากกว่าพริกไทยจากกระบวนการตากแห้งโดยทั่วไป (33% ของน้ำหนักก่อนอบ) และในการทดสอบกลิ่นพบว่า พริกไทยสีแดงและสีส้มมีกลิ่นหอมเบอร์รี่ชัดเจน พริกไทยสีเหลืองมีกลิ่นเบอร์รี่เล็กน้อยและพริกไทยสีเขียวที่ไม่ได้กลิ่นเบอร์รี่ นอกจากนี้ยังได้ศึกษาความคุ้มทุนของเครื่องอบพริกไทย พบว่าอบพริกไทยเพียง 3 ครั้ง จะเริ่มได้กำไรจากการลงทุน จากผลการศึกษาจะเห็นว่า ตู้อบพริกไทยที่สร้างมีประสิทธิภาพในการเพิ่มคุณภาพให้แก่เมล็ดพริกไทย ทำให้เกษตรกรสามารถอบพริกไทยได้ถึงแม้ว่าจะไม่มีแสงแดด เพิ่มรายได้ และเพิ่มคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ให้แก่เกษตรกรรายย่อย