การเปรียบเทียบประสิทธิภาพของไฮโดรเจลจากพืชในท้องถิ่นที่ส่งผลต่อการดูดซับโลหะหนักในน้ำ

ชื่อนักเรียนผู้จัดทำโครงงานวิทยาศาสตร์

ปัทมาพร ชมภูนาค, ณิชกานต์ เทศมงคลชัย

อาจารย์ที่ปรึกษาโครงงานวิทยาศาสตร์

วิภาวี ศรีหานนท์

โรงเรียนที่กำกับดูแลโครงงานวิทยาศาสตร์

โรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย ลพบุรี

ปีที่จัดทำโครงงานวิทยาศาสตร์

พ.ศ. 2564

บทคัดย่อโครงงานวิทยาศาสตร์

โครงงานเรื่อง การเปรียบเทียบประสิทธิภาพของไฮโดรเจลจากพืชในท้องถิ่นที่ส่งผลต่อการดูดซับโลหะหนักในน้ำ มีจุดมุ่งหมายเพื่อ 1)เปรียบเทียบผลของเซลลูโลสจากพืชต่างชนิดต่อการขึ้นรูปไฮโดรเจล 2) เพื่อเปรียบเทียบประสิทธิภาพของไฮโดรเจลที่ส่งผลต่อการดูดซับโลหะหนักในน้ำ ดำเนินการทดลองโดย ตอนที่1 การสังเคราะห์ไฮโดรเจล เริ่มด้วยการนำพืชในท้องถิ่น 2 ชนิด คือ กาบกล้วย และผักตบชวา มาสกัดเซลลูโลส (Cellulose) และคาร์บอกซิเมทิลเซลลูโลส (Carboxymethylcellulose:CMC)จากนั้นนำไปสังเคราะห์ไฮโดรเจล (Hydrogel) พร้อมทั้งสังเกตลักษณะและตรวจสอบคุณภาพของไฮโดรเจลที่ได้ด้วยเทคนิค Fourier transform infrared spectroscopy (FT-IR Spectroscopy), Equilibrium water content (EWC) และเทคนิค Scanning electron microscopy (SEM) ตอนที่2 การทำการทดสอบการดูดซับโครเมียม(VI) ของไฮโดรเจลจากพืชในท้องถิ่นทั้ง 2 ชนิด เตรียมสารละลายมาตรฐานโลหะหนัก ในการทดลองนี้ คือ โครเมียม(Vl) ที่ 5 ความเข้มข้น คือ 20, 40, 60, 80 และ 100 ppb วัดความเข้มข้นเริ่มต้นของสารด้วยเทคนิค Atomic absorption spectroscopy (AAS)นำไฮโดรเจลที่สังเคราะห์ได้จากตอนที่ 1 ไปทดสอบ แล้ววัดความเข้มข้นของสารละลายโครเมียม(VI) อีกครั้ง จากนั้นหาประสิทธิภาพของไฮโดรเจล พบว่า ไฮโดรเจลที่สังเคราะห์ขึ้นจากพืชในท้องถิ่นทั้ง 2 ชนิด มีประสิทธิภาพในการดูดซับโลหะหนักได้ดี ทั้งนี้ พิจารณาจากการลดลงของปริมาณโครเมียม(VI)ในน้ำ