การพัฒนาวัสดุเพาะเพื่อเพิ่มการเจริญเติบโตและสารต้านอนุมูลอิสระในการเพาะเลี้ยงเห็ดนางรมทอง (Pleurotus citrinopileatus Singer.)
- ชื่อนักเรียนผู้จัดทำโครงงานวิทยาศาสตร์
ณัฐวรา กิจธรรมรัตน์, ศศธร ศิริกุลสถิตย์, ภัทรพร เอี่ยมศิริกิจ
- อาจารย์ที่ปรึกษาโครงงานวิทยาศาสตร์
ภัทรญา กลิ่นทอง
- โรงเรียนที่กำกับดูแลโครงงานวิทยาศาสตร์
- ปีที่จัดทำโครงงานวิทยาศาสตร์
บทคัดย่อโครงงานวิทยาศาสตร์
งานวิจัยนี้มุ่งเน้นศึกษาการใช้วัสดุเพาะเหลือใช้ที่มีคุณสมบัติเป็นแหล่งคาร์บอนและวัสดุเพาะจากเปลือกผลไม้ที่อุดมไปด้วยธาตุอาหาร ในการเพาะเลี้ยงเห็ดนางรมทอง (Pleurotus citrinopileatus Singer.) เพื่อเพิ่มการเจริญเติบโตปริมาณโปรตีน รวมถึงเพิ่มปริมาณสารต้านอนุมูลอิสระ โดยใช้วัสดุเพาะคือขี้เลื่อย เป็นวัสดุพื้นฐานร่วมกับวัสดุเพาะอื่นๆ ในอัตราส่วนที่แตกต่างกัน โดยมีชุดควบคุมคือ ขี้เลื่อย 100% ชุดการทดลองที่ 1 คือ ขี้เลื่อย : กระดาษลัง = 50 : 50 และชุดทดลองที่ 2 คือ ขี้เลื่อย : กระดาษลัง = 75 : 25 เมื่อเพาะจนดอกเห็ดเติบโตเต็มที่ นำดอกเห็ดในชุดควบคุม ชุดทดลองที่ 1 และชุดทดลองที่ 2 มาวัดเส้นผ่านศูนย์กลางของดอกเห็ดได้เฉลี่ย 4.70 3.89 และ 3.75 เซนติเมตร ตามลำดับ นำดอกเห็ดมาชั่งน้ำหนักแห้งได้เฉลี่ย 6.08 6.09 และ 5.38 กรัม ตามลำดับ และเมื่อนำสารสกัดเห็ดมาตรวจสอบการต้านอนุมูลอิสระ (% Radical Scavenging) ได้ 39.24% 58.26% และ 56.00% ตามลำดับ ผลการทดลองพบว่าขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางและน้ำหนักแห้งของเห็ดนางรมทองของทั้งสองชุดการทดลอง ไม่มีความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติเมื่อเทียบกับชุดควบคุม ดังนั้นแสดงว่า ชนิดและอัตราส่วนของวัสดุเพาะที่นำมาทดแทนขี้เลื่อย คือกระดาษลังนั้น ส่งผลให้เห็ดนางรมทองเจริญเติบโตได้ไม่ต่างกันกับใช้ขี้เลื่อย 100 % ดังนั้น จึงสามารถประยุกต์ใช้วัสดุเหลือใช้ มาทดแทนขี้เลื่อยซึ่งมีราคาแพงได้ ส่วนสารสกัดเห็ดในชุดทดลองที่ 1 และ 2 มีการต้านอนุมูลอิสระมากกว่าชุดควบคุมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ อย่างไรก็ตามการต้านอนุมูลอิสระของสารสกัดเห็ดของชุดที่ 1 และ ชุดที่ 2 ไม่มีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ และทั้งสองชุดการทดลองนั้นจะถูกนำไปวัดปริมาณโปรตีนต่อไป