การเปรียบเทียบสารสกัดแทนนินจากส่วนประกอบต่างๆของพืชในการยับยั้งแบคทีเรีย

ชื่อนักเรียนผู้จัดทำโครงงานวิทยาศาสตร์

กันตาภา ศุภศรี, ศิระ หะจิ, ชนกนันท์ จิตบุญ

อาจารย์ที่ปรึกษาโครงงานวิทยาศาสตร์

ชุติกาญจน์ คีรีรัตน์

โรงเรียนที่กำกับดูแลโครงงานวิทยาศาสตร์

โรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย ตรัง

ปีที่จัดทำโครงงานวิทยาศาสตร์

พ.ศ. 2564

บทคัดย่อโครงงานวิทยาศาสตร์

ในปัจจุบันพืชเป็นสิ่งมีชีวิตหนึ่งบนโลกที่มีประโยชน์มากมายเนื่องจากในพืชจะมีสารประกอบทางเคมีเฉพาะตัวเช่น ซาโปนิน มีคุณสมบัติเป็นผงซักฟอกธรรมชาติใช้ทำความสะอาดเสื้อผ้า ทริปโตเฟน เป็นกรดอะมิโนที่ร่างกายสามารถเปลี่ยนเป็นสารเมลาโทนินช่วยบรรเทาอาการวิตกกังวล และหนึ่งในสารประกอบทางเคมีที่สำคัญและพบได้ในพืชหลายชนิดคือ แทนนิน ซึ่งเป็นกรดอ่อน มีรสขมฝาด สามารถนำไปใช้ในด้านอุตสาหกรรมได้หลากหลายไม่ว่าจะเป็น การย้อมผ้า การทำเครื่องหนัง การทำผลิตภัณฑ์ความงาม ที่สำคัญคือ มีฤทธิ์ทางเภสัชวิทยา อาทิ ต้านอนุมูลอิสระ ต้านการอักเสบและสามารถยับยั้งเชื้อแบคทีเรียได้ ประกอบกับในจังหวัดตรังมีพืชที่เจริญเติบโตได้ดีในพื้นที่ เช่น ยางพารา สะตอ มะพร้าว เป็นต้น ทางผู้จัดทำจึงให้ความสนใจที่จะนำส่วนประกอบเหลือใช้ของพืชในจังหวัดตรังที่พบสารแทนนิน ได้แก่ เปลือกยางพารา เปลือกสะตอ เปลือกมังคุด เปลือกมะพร้าวและฝักขี้เหล็ก มาทำการเปรียบเทียบความสามารถในการยับยั้งแบคทีเรีย ว่ามีความแตกต่างกันหรือไม่อย่างไร เพื่อเป็นแนวทางในการพิจารณาเลือกใช้สารแทนนินจากธรรมชาติสำหรับยับยั้งแบคทีเรียต่อไป