การศึกษาปริมาณของแคลเซียมและแมกนีเซียมในน้ำที่มีความเหมาะสมต่อการเจริญเติบโตของกุ้งขาว(L. vannamei) ในสภาวะความเค็มต่ำ (5 ppt)

ชื่อนักเรียนผู้จัดทำโครงงานวิทยาศาสตร์

สุธีรา วงศ์วิวัฒน์, แววตา ท้ายห้วน

อาจารย์ที่ปรึกษาโครงงานวิทยาศาสตร์

พัชรา พงศ์มานะวุฒิ

โรงเรียนที่กำกับดูแลโครงงานวิทยาศาสตร์

โรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย ตรัง

ปีที่จัดทำโครงงานวิทยาศาสตร์

พ.ศ. 2563

บทคัดย่อโครงงานวิทยาศาสตร์

กุ้งขาวเป็นอาหารทะเลที่สร้างรายได้จำนวนมากให้กับเกษตรกร โดยในปัจจุบันประเทศไทยผลิตกุ้งได้ 5 แสนตันต่อปี ผลผลิตส่วนใหญ่ร้อยละ 80 หรือประมาณ 4 แสนตัน ใช้เพื่อส่งออก ซึ่งสามารถสร้างรายได้เข้าประเทศได้กว่า 9 หมื่นล้านบาท ส่งผลให้ไทยเป็นประเทศผู้ผลิตและส่งออกกุ้งรวมถึงผลิตภัณฑ์แปรรูปใหญ่เป็นอันดับต้นๆของโลก ทำให้เกษตรกรมีการขยายการเลี้ยงกุ้งมากขึ้น แต่ก็เกิดข้อจำกัดของพื้นที่ในการเลี้ยงกุ้ง สาเหตุส่วนหนึ่งเป็นเพราะว่า พื้นที่ที่ใช้เลี้ยงเป็นพื้นที่ป่าชายเลนและใกล้สถานที่ท่องเที่ยว ซึ่งรัฐบาลมีการเวนคืนพื้นที่ดังกล่าว ดังนั้นเพื่อเพิ่มพื้นที่ในการเลี้ยงและเพิ่มกำลังการผลิตให้เพียงพอต่อความต้องการของตลาด รัฐบาลจึงออกพระราชบัญญัติให้สามารถเลี้ยงกุ้งในความเค็มต่ำหรือเลี้ยงในบริเวณพื้นที่ไกลทะเลได้ เช่น การเลี้ยงกุ้งที่จังหวัด สุพรรณบุรี นครปฐม เป็นต้น ซึ่งปกติกุ้งจะเจริญเติบโตได้ดีในน้ำทะเลที่ความเค็ม 35 ppt ที่ระดับความเค็มนี้ประกอบด้วยแร่ธาตุที่เพียงพอต่อการเจริญเติบโตของกุ้ง แต่การเลี้ยงกุ้งที่ความเค็มต่ำ(หรือการเลี้ยงในพื้นที่ภูมิภาคอื่นที่ไกลจากทะเล) ปริมาณแร่ธาตุและสารอาหารในน้ำจะลดลง ทำให้การเจริญเติบโตและอัตราการรอดของกุ้งลดลง ส่งผลกระทบต่อต้นทุนและความเสี่ยงที่มากขึ้นต่อเกษตรกร โดยแร่ธาตุที่มีความจำเป็นต่อการเจริญเติบโตของกุ้งได้แก่ แคลเซียมและแมกนีเซียม ซึ่งเกี่ยวข้องกับการลอกคราบ การรักษาสมดุลเกลือแร่ และการเจริญเติบโต ทางผู้จัดทำจึงต้องการที่จะศึกษาว่า ปริมาณแคลเซียมและแมกนีเซียม มีผลต่อการเจริญเติบโตของกุ้งขาวแวนาไมหรือไม่ เพื่อที่จะหาปริมาณแคลเซียมและแมกนีเซียมที่เหมาะสมต่อการเลี้ยงกุ้งในบริเวณที่มีความเต็มต่ำต่อไป จึงเป็นที่มาของการทำการทดลองครั้งนี้