จุลินทรีย์หน่อกล้วยในการกำจัดลูกน้ำยุงลาย

ชื่อนักเรียนผู้จัดทำโครงงานวิทยาศาสตร์

พชร บุญเจริญ, รัตนพันธ์ ภูวชนาธิพงศ์

อาจารย์ที่ปรึกษาโครงงานวิทยาศาสตร์

สมเกียรติ เกิดล่อง

โรงเรียนที่กำกับดูแลโครงงานวิทยาศาสตร์

โรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย ตรัง

ปีที่จัดทำโครงงานวิทยาศาสตร์

พ.ศ. 2563

บทคัดย่อโครงงานวิทยาศาสตร์

ในปัจจุบันโรคไข้เลือดออกเป็นหนึ่งในโรคที่เป็นอันตรายร้ายแรงต่อมนุษย์ ซึ่งโรคไข้เลือดออกนี้มีพาหะนำโรค คือ ยุงลาย โดย ยุงลายมีวงจรชีวิตทั้งหมด 4 ระยะ ได้แก่ ระยะแรก คือ ไข่ ระยะสอง คือ ลูกน้ำ ระยะสาม คือ ระยะตัวโม่ง และระยะสุดท้ายคือ ตัวเต็มวัย ซึ่งยุงลายก่อนจะเข้าสู่ตัวเต็มวัย จะมีช่วงชีวิตที่เป็นลูกน้ำซึ่งลูกน้ำเกิดจากไข่ของยุงลายที่ฝักตัวออกมาเป็นระยะเวลา 2-3 วัน ลูกน้ำจะอยู่ภายในแหล่งน้ำ เช่น ภาชนะที่ไม่มีฝาปิด หรือ แหล่งน้ำต่างๆ เพราะฉะนั้นระยะลูกน้ำ จึงเป็นช่วงที่สามารถกำจัดยุงลายได้ง่ายกว่าช่วงโตเต็มวัย โดยวิธีกำจัดลูกน้ำยุงลายมีมากมายหลากหลายวิธี แต่จากการสืบค้นของผู้จัดทำพบว่า จุลินทรีย์หน่อกล้วย สามารถใช้ในการกำจัดลูกน้ำยุงลายได้ ซึ่งจุลินทรีย์หน่อกล้วยจะทำพิษต่อระบบทางเดินหายใจของยุง

ดังนั้นทางคณะผู้จัดทำจึงได้ทำการทดลองเกี่ยวกับการใช้จุลินทรีย์หน่อกล้วยในความเข้มข้นที่แตกต่างกันในการกำจัดลูกน้ำยุงลาย ซึ่งวิธีการหมักจุลินทรีย์หน่อกล้วย สามารถทำได้โดยการใช้หน่อกล้วย น้ำตาลทรายแดงและน้ำมาหมักรวมกันไว้เป็นเวลา 1 เดือน ส่วนลูกน้ำที่ใช้จะมาจากการเพาะภายในภาชนะเปิด ซึ่งนำทั้ง 2 อย่างมาทำการทดลองโดยมีการแบ่งการทดลองเป็น 6 ชุด ได้แก่ ชุดควบคุม จุลินทรีย์หน่อกล้วยที่ความเข้มข้นร้อยละ 25 50 75 100 และทรายอะเบท โดยนับลูกน้ำยุงลายที่เหลือในแต่ละชุดการทดลองเพื่อสรุปผลการทดลอง นอกจากนี้ทางคณะผู้จัดทำยังเล็งเห็นถึงปัญหาเกี่ยวกับคุณภาพของน้ำ ดังนั้น คณะผู้จัดทำจะทำการวัดคุณภาพของน้ำแต่ละชุดการทดลองทั้งก่อนและหลังการทดลองเพื่อเป็นการเปรียบเทียบกัน ว่าสารที่ใช้ทดลองตัวใดที่กำจัดลูกน้ำยุงลายได้ดีที่สุดและส่งผลเสียต่อน้ำน้อยที่สุดอีกด้วย