การศึกษาสภาวะที่เหมาะสมในการทำงานของเอนไซม์สลายไฟบรินที่สกัดจากแบคทีเรีย Virgibacillus ในกระบวนการหมักน้ำปลา
- ชื่อนักเรียนผู้จัดทำโครงงานวิทยาศาสตร์
สุประวีณ์ สมานทรัพย์, มุนินทสินี รุจจนเวท, จริง ประเสริฐ
- อาจารย์ที่ปรึกษาโครงงานวิทยาศาสตร์
ฐิตารีย์ ทองเทียนชัย, ศาสตรา พรมอารักษ์
- โรงเรียนที่กำกับดูแลโครงงานวิทยาศาสตร์
- ปีที่จัดทำโครงงานวิทยาศาสตร์
บทคัดย่อโครงงานวิทยาศาสตร์
ในปัจจุบันภาวะลิ่มเลือดอุดตัน เป็นหนึ่งในสาเหตุที่ก่อให้เกิดกลุ่มโรคหัวใจและหลอดเลือดไม่ว่าจะเป็นภาวะหัวใจล้มเหลว หัวใจวาย หลอดเลือดสมองตีบตัน และโรคความดันโลหิตสูง โดยลิ่มเลือดเกิดจากกระบวนการแข็งตัวของเลือด เพื่อยับยั้งการสูญเสียเลือดจากการฉีกขาดของหลอดเลือด ทำให้เกล็ดเลือดจับกับโปรตีนที่ชื่อว่าไฟบริน ช่วยให้กลายเป็นลิ่มเลือด ซึ่งเป็นกลไกสำคัญของการห้ามเลือด แต่หากมีลิ่มเลือดมากเกินไปจะทำให้ขัดขวางการไหลเวียนของเลือดในหลอดเลือดแดงและหลอดเลือดดำอย่างช้าๆ จนก่อให้เกิดภาวะลิ่มเลือดอุดตัน
ผู้พัฒนาจึงมีแนวคิดที่จะนำแบคทีเรีย virgibacillus ที่ได้จากกระบวนการหมักน้ำปลามาสกัดเอนไซม์เพื่อสลายลิ่มเลือด โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อทดสอบหาสภาวะที่เหมาะสมในการทำงานของเอนไซม์ ที่ค่า pH ต่างๆ ทั้งนี้ได้มีการคัดแยกแบคทีเรีย virgibacillus จากน้ำปลา นำไปพิสูจน์ทางสัณฐานวิทยา และจึงนำไปเลี้ยงในอาหารเหลว หลังจากนั้นนำไปปั่นเหวี่ยงเพื่อสกัดเอนไซม์ แล้วนำไปทดสอบการสลายลิ่มเลือดบนอาหาร blood agar โดยใช้ค่า pH ที่ต่างกัน แล้ววัดขนาดของ clear zone ที่เกิดขึ้น จากที่กล่าวมาทางผู้พัฒนาคาดว่า ที่ค่า pH 7 เอนไซม์จะทำงานได้ดีที่สุดในการยับยั้งการทำงานของการเกิดลิ่มเลือด การศึกษาในครั้งนี้ จะเป็นแนวทางในการพัฒนาต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์สำหรับการรักษาการเกิดลิ่มเลือดในอนาคตได้