การศึกษาหาสภาวะที่เหมาะสมในการพัฒนาเม็ดวัสดุดูดซับโลหะหนักในน้ำทิ้งจากอุตสาหกรรมสิ่งทอโดยใช้เปลือกหอยแครงร่วมกับขี้เถ้าแกลบโดยมีโฟมยางพาราเป็นตัวประสาน

ชื่อนักเรียนผู้จัดทำโครงงานวิทยาศาสตร์

ภูริช พิชญานุรัตน์, สิริกร ศรีวิรมย์, สุวนันท์ ทิพย์อารักษ์วงศ์

อาจารย์ที่ปรึกษาโครงงานวิทยาศาสตร์

จุฑารัตน์ ใจงาม

โรงเรียนที่กำกับดูแลโครงงานวิทยาศาสตร์

โรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย ปทุมธานี

ปีที่จัดทำโครงงานวิทยาศาสตร์

พ.ศ. 2566

บทคัดย่อโครงงานวิทยาศาสตร์

การศึกษานี้มีจุดประสงค์เพื่อศึกษาเม็ดวัสดุดูดซับโลหะหนักในน้ำทิ้งจากอุตสาหกรรมสิ่งทอโดยใช้เปลือกหอยแครงร่วมกับขี้เถ้าแกลบโดยมียางพาราเป็นตัวประสาน คณะผู้จัดทำเลือกใช้วัสดุทางธรรมชาติคือเปลือกหอยแครงและขี้เถ้าแกลบเพราะมีคุณสมบัติในการดูดซับโลหะหนักได้ดี และมีตัวประสานเป็นโฟมยางพาราที่มีคุณสมบัติการยืดหยุ่นและการทนทานต่อแรงกระแทก โดยการเตรียมเปลือกหอยแครงจะใช้กระบวนการคาร์บอไนเซชันตามด้วยกระบวนการกระตุ้นทางเคมีด้วยซิงค์คลอไรด์ แล้วนำเปลือกหอยแครงไปบดแล้วร่อนผ่านรูตะแกรงเส้นผ่านศูนย์กลาง 300 ไมโครเมตร และการเตรียมขี้เถ้าแกลบนำขี้เถ้าแกลบร่อนผ่านรูตะแกรงเส้นผ่านศูนย์กลาง 300 ไมโครเมตร จากนั้นนำไปคนในเครื่อง stirrer เป็นเวลา 24 ชม. แล้วนำตะกอนไปอบที่อุณหภูมิ 115 องศาเซลเซียส เป็นเวลา 3 ชม.และบรรจุใส่ภาชนะที่ปิดสนิท จากนั้นศึกษาประสิทธิภาพการดูดซับโลหะหนักที่มีอัตราส่วนของปริมาณเปลือกหอยแครงและขี้เถ้าแกลบ โดยอัตราส่วนโดยน้ำหนัก 100:0, 75:25, 50:50, 25:75, และ 0:100 จากนั้นนำอัตราส่วน 50:50 มาทำการศึกษาปริมาณโฟมยางพาราที่มีผลต่อการดูดซับโลหะหนัก โดยมีเปลือกหอยแครงและขี้เถ้าแกลบในปริมาณ 0, 10, 20, 30, 40 และ 50 phr จากนั้นนำไปขึ้นรูปในแม่พิมพ์ทรงกระบอกขนาด ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 3 ซม. และสูง 3 ซม. และทำการศึกษาปัจจัยที่มีผลต่อประสิทธิภาพการดูดซับโลหะหนักที่สภาวะต่างๆ ได้แก่ ปริมาณความเข็มข้นของสารละลาย ระยะเวลาในการดูดซับ และปริมาณเม็ดวัสดุดูดซับ