การศึกษาหาสภาวะที่เหมาะสมในการพัฒนาเม็ดวัสดุดูดซับโลหะหนักในน้ำทิ้งจากอุตสาหกรรมสิ่งทอโดยใช้เปลือกหอยแครงร่วมกับเถ้าลอยไม้ยางพาราโดยมีน้ำยางพาราเป็นตัวประสาน

ชื่อนักเรียนผู้จัดทำโครงงานวิทยาศาสตร์

สุวนันท์ ทิพย์อารักษ์วงศ์, ภูริช พิชญานุรัตน์

อาจารย์ที่ปรึกษาโครงงานวิทยาศาสตร์

จุฑารัตน์ ใจงาม

โรงเรียนที่กำกับดูแลโครงงานวิทยาศาสตร์

โรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย ปทุมธานี

ปีที่จัดทำโครงงานวิทยาศาสตร์

พ.ศ. 2565

บทคัดย่อโครงงานวิทยาศาสตร์

น้ำทิ้งจากอุตสาหกรรมสิ่งทอที่ถูกปล่อยออกมาจะมีสีสังเคราะห์ย้อมผ้าเป็นส่วนประกอบ ซึ่งมีผลการวิจัย พบว่า สีสังเคราะห์หลายชนิดมีการปนเปื้อนของโลหะหนัก ซึ่งเป็นสารก่อมะเร็งและโรคร้ายแรงอื่นๆ โลหะหนักเป็นพิษต่อร่างกายมนุษย์อย่างมาก อีกทั้งโลหะหนักจะยังสะสมอยู่ในระบบนิเวศ ทำให้เป็นอันตรายต่อสิ่งมีชีวิตต่างๆด้วย เปลือกหอยแครงเป็นวัสดุเหลือทิ้งที่มีปริมาณมาก ซึ่งมีลักษณะทางกายภาพคือมีโครงสร้างรูพรุนมากที่ช่วยเพิ่มพื้นที่ผิวในการดูดซับ นอกจากนี้เปลือกหอยแครงยังมีองค์ประกอบเป็นแคลเซียมคาร์บอเนตและแคลเซียมออกไซต์มากถึง ร้อยละ 90 จึงทำให้มีความสามารถในการดูดซับพวกโลหะหนักได้ดี เถ้าลอยเป็นวัสดุดูดซับที่มีลักษณะทางกายภาพ ได้แก่ ความพรุน พื้นที่ผิว และมีองค์ประกอบทางเคมีอัตราส่วนระหว่าง SiO2 : Al2O3 มีค่ามากกว่า 2.4 จึงเป็นวัสดุที่เหมาะสมในการนำมาใช้เป็นวัสดุดูดซับต้นทุนต่ำ สามารถใช้ในการดูดซับสีย้อมที่ปนเปื้อนในน้ำเสียได้ และยางพารามีคุณสมบัติเด่นด้านความยืดหยุ่น การทนทานต่อแรงกระแทกได้ดี ผู้จัดทำจึงเกิดแนวความคิดที่จะนำวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร ได้แก่ เปลือกหอยแครงและเถ้าลอยไม้ยางพารา มาทำการผสมกับน้ำยางพารา เพื่อให้น้ำยางพาราเป็นตัวประสานให้กับเม็ดวัสดุดูดซับและเป็นการเพิ่มความแข็งแรงอีกด้วย ดังนั้นคณะผู้จัดทำจึงมีความสนใจที่จะศึกษาประสิทธิภาพในการดูดซับโลหะหนักของเม็ดวัสดุดูดซับจากเปลือกหอยแครงร่วมกับเถ้าลอยไม้ยางพาราโดยมีน้ำยางพาราเป็นตัวประสานเพื่อเป็นอีกหนึ่งทางเลือกในการบำบัดน้ำเสียจากอุตสาหกรรมสิ่งทอหรือโรงงานอุตสาหกรรมประเภทอื่นๆ และเพื่อลดปัญหาการปนเปื้อนของโลหะหนักในแหล่งน้ำต่างๆ