การล่อดักจับและกำจัดแมลงสิง (Leptocorisa acuta) ด้วยสารสกัดหยาบจากรากของต้นสาบเสือ

ชื่อนักเรียนผู้จัดทำโครงงานวิทยาศาสตร์

ณฤพร สังอ่อนดี, สุกฤษฏิ์ ผาแก้ว, พิภพเมธี ปิ่นกุล

อาจารย์ที่ปรึกษาโครงงานวิทยาศาสตร์

ชิด วงค์ใหญ่, สุกัลยา วงค์ใหญ่

โรงเรียนที่กำกับดูแลโครงงานวิทยาศาสตร์

โรงเรียนพนมสารคาม "พนมอดุลวิทยา"

ปีที่จัดทำโครงงานวิทยาศาสตร์

พ.ศ. 2566

บทคัดย่อโครงงานวิทยาศาสตร์

ข้าวเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญ เกษตรกรไทยจึงนิยมปลูกข้าวเป็นจำนวนมาก แต่ประสบปัญหาด้านคุณภาพและปริมาณ หลังจากการสีข้าวจะสังเกตเห็นการแตกหักของเมล็ดข้าว เนื่องจากการเข้าทำลายของแมลงสิงที่ดูดกินน้ำนมข้าวส่งผลให้ปริมาณผลผลิตและคุณภาพของข้าวลดลง เกษตรกรมักควบคุมและกำจัดแมลงสิงด้วยการใช้สารเคมี ทำให้มีสารเคมีตกค้างอยู่ในผลผลิตและในดิน ผู้จัดทำจึงมีแนวคิดที่จะประดิษฐ์ที่ล่อดักจับเพื่อใช้ในการควบคุมและกำจัดแมลงสิง โดยการศึกษาพบว่าวงจรชีวิตของแมลงสิงแบ่งเป็น 4 ช่วง คือ ไข่ ตัวอ่อนแรกเกิด ตัวอ่อน และตัวเต็มวัย นอกจากนี้แมลงสิงยังกินเนื้อเป็นอาหาร ต่อมาจึงศึกษาเหยื่อจากเนื้อสัตว์จำนวน 5 ชนิด สำหรับล่อดักจับแมลงสิง ได้แก่ เนื้อหอยเชอรี่ เนื้อปูนา เนื้อปลา เนื้อไก่ และเนื้อหมู โดยแบ่งเป็นเนื้อสด และเนื้อที่หมักให้เน่า พบว่าเนื้อสัตว์เน่าให้ผลดีกว่าเนื้อสัตว์สด โดยเนื้อปูนาเน่ามีการเข้ากินเหยื่อของแมลงสิงเฉลี่ย 47.60% ± 3.44 ส่วนเนื้อหอยเชอรี่เน่าได้ผลใกล้กับเนื้อปูนาเน่าคือ 44.40% ± 2.33 เมื่อศึกษาผลของสารสกัดจากพืชชนิดต่าง ๆ ที่มีต่อการตายของแมลงสิง (Leptocorisa acuta) โดยใช้พืชจำนวน 5 ชนิด ได้แก่ หางไหล สาบเสือ สาบม่วง สาบแร้งสาบกา และกระชาย พบว่าสารสกัดจากหางไหลมีผลต่อการตายของแมลงสิงมากที่สุด คือมีค่าเฉลี่ยการตายของแมลงสิงเป็น 97.2% ± 2.04 ซึ่งใกล้เคียงกับสารสกัดจากสาบเสือที่มีค่าเฉลี่ยเป็น 94.4% ± 2.33 เนื่องจากสาบเสือเป็นพืชที่สามารถหาได้ง่าย จึงนำมาศึกษาเปรียบเทียบสารสกัดจากใบ ลำต้น และรากของสาบเสือ พบว่าสารสกัดจากรากของสาบเสือให้ผลดีที่สุด คือมีค่าเฉลี่ยการตายของแมลงสิง 96.40% ± 1.67 และจากการศึกษาเปรียบเทียบความเข้มข้นของสารสกัดจากรากของสาบเสือ พบว่าเมื่อความเข้มข้นสูงขึ้นจะมีผลต่อการตายของแมลงสิงมากขึ้น ความเข้มข้นที่ให้ผลดีที่สุด คือ 100% โดยมีค่าเฉลี่ย 99.60% ± 0.89 แต่เนื่องจากความเข้มข้น 20% นั้นเป็นความเข้มข้นที่เพียงพอสำหรับกำจัดแมลงสิง โดยมีค่าเฉลี่ย 87.20% ± 2.28 จึงเลือกใช้ความเข้มข้น 20% ในทุกการทดลองได้ทำการศึกษาแมลงสิงทั้งระยะตัวอ่อน และตัวเต็มวัย ซึ่งให้ผลการทดลองเช่นเดียวกัน แต่แมลงสิงในระยะตัวอ่อนจะตายเร็วกว่าระยะตัวเต็มวัย การศึกษาเหยื่อพิษดักล่อและกำจัดแมลงสิงในนาข้าวโดยใช้เหยื่อจากเนื้อสัตว์และสารสกัดจากสาบเสือ นับว่าเป็นวิธีการกำจัดแมลงสิงโดยไม่ต้องใช้สารเคมี อีกทั้งยังเป็นการเพิ่มมูลค่าให้กับพืชในท้องถิ่นอีกด้วย