ผลของสารสกัดใบสาบเสือที่สกัดด้วยไดคลอโรมีเทนต่อการกระตุ้นการเจริญเติบโตของพืชปลูก

ชื่อนักเรียนผู้จัดทำโครงงานวิทยาศาสตร์

รุ่งวิกรัย เลิศสุวรรณ์

อาจารย์ที่ปรึกษาโครงงานวิทยาศาสตร์

จิราพร อรุณพานิชเลิศ, วรุณธร เชื้อบุญมี

โรงเรียนที่กำกับดูแลโครงงานวิทยาศาสตร์

โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย รังสิต

ปีที่จัดทำโครงงานวิทยาศาสตร์

พ.ศ. 2561

บทคัดย่อโครงงานวิทยาศาสตร์

ประเทศไทยเป็นประเทศเกษตรกรรม ซึ่งการเพาะปลูกส่วนใหญ่จะนิยมทำในระบบเกษตรเคมี โดยใช้สารเคมีต่างๆ เช่นสารเคมีกำจัดศัตรูพืช ปุ๋ยเคมี และสารควบคุมการเจริญเติบโตเป็นจำนวนมาก โดยข้อมูลจากกรมวิชาการเกษตร เปิดเผยว่าในปี 2558 ประเทศไทยนำเข้าสารเคมีทางเกษตรมีมูลค่ามากถึง 1.93 หมื่นล้านบาท ซึ่งนอกจากจะเป็นการขาดดุลการค้าระหว่างประเทศแล้ว สารเคมีสังเคราะห์ที่ใช้ยังตกค้างยาวนานในสภาพแวดล้อมทำให้เกิดปัญหาสุขภาพของเกษตรกร ผู้บริโภคและก่อให้เกิดปัญหาทางสิ่งแวดล้อมตามมา ดังนั้นการศึกษาสารสกัดชีวภาพเพื่อใช้ในการเกษตรจึงเป็นแนวทางหนึ่งที่สำคัญเพื่อลดการใช้สารเคมีสังเคราะห์ ในปัจจุบันได้มีการศึกษาสารควบคุมการเจริญเติบโตของพืชอย่างมาก ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการสังเคราะห์สารขึ้นใหม่เพื่อเลียนแบบสารชีวภาพ แต่มีจำนวนน้อยมากที่สกัดจากธรรมชาติโดยตรงแล้วนำมาใช้เป็นสารควบคุมการเจริญเติบโตเนื่องจากการสกัดฮอร์โมนจากพืชทำได้ยากและมีต้นทุนที่สูง โครงงานวิจัยที่ผ่านมาของผู้วิจัยและคณะพบว่าสารสกัดจากใบสาบเสือที่ความเข้มข้นสูงสามารถยับยั้งการเจริญเติบโตของพืชได้และมีศักยภาพในการนำไปใช้เป็นสารกำจัดวัชพืช นอกจากนี้ยังพบผลการทดลองที่น่าสนใจคือสารสกัดใบสาบเสือที่สกัดด้วยไดคลอโรมีเทนซึ่งเป็นตัวทำละลายที่มีขั้วน้อยนั้น สามารถกระตุ้นการเจริญเติบโตของพืชและเชื้อราเมื่อใช้ในความเข้มข้นที่น้อย ผู้วิจัยจึงตั้งข้อสังเกตว่าสารสกัดที่ได้มีคุณสมบัติในการเป็นสารควบคุมการเจริญเติบโต ดังนั้นในงานวิจัยนี้ผู้วิจัยจึงมุ่งหวังที่จะศึกษาผลของสารสกัดจากใบสาบเสือที่สกัดด้วยไดคลอโรมีเทน ในการควบคุมการเจริญเติบโตของพืชในด้านต่างๆ เช่น การเร่งอัตราการงอกของพืช การเกิดรากพิเศษของกิ่งชำ การส่งเสริมการเจริญเติบโตของพืชทั้งในระบบเพาะปลูกไฮโดรโปนิกส์และในระบบเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ การช่วยพืชในการต้านสภาวะเครียดต่างๆ เป็นต้น โดยจะแบ่งการทดลองออกเป็นการทดลองย่อยๆ ประกอบด้วย การเตรียมสารสกัดใบสาบเสือด้วยตัวทำละลายไดคลอโรมีเทน การวิเคราะห์องค์ประกอบของสารด้วยเทคนิคการวิเคราะห์ขั้นสูง การศึกษาผลการออกฤทธิ์ทางชีวภาพต่อพืชในด้านต่างๆ และศึกษาความเป็นไปได้ในการนำไปประยุกต์ใช้เป็นสารควบคุมการเจริญเติบโตเพื่อลดการใช้สารเคมีสังเคราะห์