การศึกษาสารสกัดเชลแล็กจากแมลงครั่ง เพื่อประยุกต์เป็นวัสดุปิดแผล

ชื่อนักเรียนผู้จัดทำโครงงานวิทยาศาสตร์

ธัญพิชชา การุญ, ใยฟ้า มังสังข์

อาจารย์ที่ปรึกษาโครงงานวิทยาศาสตร์

จุฑารัตน์ ใจงาม

โรงเรียนที่กำกับดูแลโครงงานวิทยาศาสตร์

โรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย ปทุมธานี

ปีที่จัดทำโครงงานวิทยาศาสตร์

พ.ศ. 2562

บทคัดย่อโครงงานวิทยาศาสตร์

เชลแล็กเป็นพอลิเมอร์ธรรมชาติที่ได้จากสารคัดหลั่งจากแมลงครั่งที่มีอยู่มากในประเทศไทย และมีคุณสมบัติที่หลากหลาย ได้แก่ การยึดเกาะผิววัสดุ การนำไฟฟ้า ความร้อน และการซึมผ่านไอน้ำที่ต่ำ ปกป้องความชื้น มีคุณสมบัติไม่ละลายที่ค่าพีเอชต่ำแต่จะละลายได้มากขึ้นเมื่อเพิ่มค่าพีเอช โดยเชลแล็กจะเริ่มละลายได้ที่พีเอชประมาณ 7.0 ทำให้ป้องกันการแตกตัวในกรดที่อยู่ในกระเพาะอาหารได้ ฟิล์มที่เตรียมจากเชลแล็กจะมีค่าดัชนีหักเหที่ค่อนข้างสูง สามารถสะท้อนแสงได้ดีทำให้ได้ฟิล์มที่มีคุณสมบัติเงางาม (นางนงค์นุช กลิ่นพิกุล, 2557) อีกทั้งกระบวนการอิเล็กโทรสปินนิ่งสามารถผลิตเป็นแผ่นฟิล์มพอลิเมอร์เพื่อให้ยาทางปาก เตรียมเป็นแผ่นแปะเพื่อนำส่งยาทางผิวหนัง และเตรียมเป็นแผ่นตาข่ายสำหรับรักษาแผลเปิดได้ (ปรัชญา ทิพย์ดวงตา, 2560) ดังนั้นผู้จัดทำจึงมีวัตถุประสงค์ผลิตวัสดุในการปิดแผลด้วยสารสกัดเชลแล็กจากแมลงครั่งโดยกระบวนการอิเล็กโทรสปินนิ่ง และศึกษาผลของพารามิเตอร์ที่มีผลต่อขนาดและลักษณะของเส้นใย โดยขั้นตอนการทดลองเริ่มจากการสกัดสีออกจากครั่งดิบ โดยแยกกิ่งไม้ ผงดินออก จากนั้นให้นำไปป่นเป็นเม็ดเล็กๆ แช่น้ำเพื่อให้สีแยกออกมา แล้วนำไปตากแห้ง เมื่อได้ครั่งเม็ดให้นำมาเข้ากระบวนการอิเล็กโทรสปินนิ่ง โดยมีการเปลี่ยนพารามิเตอร์เพื่อให้ได้วัสดุปิดแผลที่มีคุณภาพดีที่สุด เพื่อเพิ่มความปลอดภัยในการใช้สอย เพื่อให้ผู้ป่วยหรือผู้ที่มีบาดแผลสามารถใช้แผ่นปิดแผลและไม่มีอาการแพ้ได้ รวมทั้งลดอาการบาดเจ็บจากการดึงหรือลอกแผ่นปิดแผลออกจากผิวหนังและแก้ปัญหากาวที่ติดบนผิวหนังด้วย