การศึกษาสมบัติของแป้งจากรากสะสมอาหารของพืชในวงศ์ Dioscoreaceae ในท้องถิ่นเพื่อพัฒนาเป็นสารกั้นสีในอุตสาหกรรมหม้อฮ่อมบาติกที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

ชื่อนักเรียนผู้จัดทำโครงงานวิทยาศาสตร์

วาสนา จันทร์เต็ม, ณฐนนท ไชยลังกา

อาจารย์ที่ปรึกษาโครงงานวิทยาศาสตร์

เกียรติศักดิ์ อินราษฎร, สุธิพงษ์ ใจแก้ว

โรงเรียนที่กำกับดูแลโครงงานวิทยาศาสตร์

โรงเรียนดำรงราษฎร์สงเคราะห์

ปีที่จัดทำโครงงานวิทยาศาสตร์

พ.ศ. 2563

บทคัดย่อโครงงานวิทยาศาสตร์

สารกั้นสีเป็นวัสดุที่มีความสำคัญต่อการเขียนลวดลายในอุตสาหกรรมผ้าบาติกชนิดต่าง ๆ โดยการใช้สารกั้นสีจากเทียนไขร้อนเป็นวิธีการดั้งเดิมที่ต้องใช้ความชำนาญและความร้อนเพื่อหลอมเหลวเทียนไขก่อนการเขียนลายและความร้อนในการลอกเทียนไขเพื่อย้อมทับ ในขณะที่สารกั้นสีในทางการค้าแม้จะสามารถใช้ได้โดยไม่ต้องผ่านความร้อน แต่ก็มักมีราคาสูงและมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม โครงงานนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาสมบัติของแป้งจากรากสะสมอาหารของพืชในวงค์ Dioscoreaceae ในท้องถิ่นเพื่อพัฒนาเป็นสารกั้นสีในอุตสาหกรรมหม้อฮ่อมบาติก โดยสกัดแป้งจากรากสะสมอาหารจากพืชวงค์ Dioscoreaceae ได้แก่ มันมู้ (Dioscorea pentaphyll) กลอย (D. hispida) และมันเล็บช้าง (D. alata) พบว่ามันมู้มีปริมาณเนื้อแป้งมากที่สุด รองลงมาคือกลอยและมันเล็บช้าง โดยมีค่าร้อยละของเนื้อแป้งเท่ากับ 40 22 และ 1.06 ตามลำดับ แป้งที่ได้จากพืชทั้องสามชนิดละลายน้ำได้เล็กน้อยและมีอะไมโลเพคตินเป็นองค์ประกอบ เมื่อนำแป้งที่ได้ไปพัฒนาเป็นสารกั้นสีพบว่า แป้งมันมู้มีความความหนืด ความสามารถในการยึดเกาะ การซึมผ่านผ้าและการแข็งตัวที่เหมาะสมในการนำไปใช้งานเขียนลวดลายและทำให้ลายเส้นดังกล่าวมีความคมชัดมากที่สุดและไม่แตกต่างจากการใช้สารกั้นสีในทางการค้า แต่คมชัดมากกว่าการใช้เทียนไขร้อน อย่างไรก็ตามสารกั้นสีจากมันมู้สามารถล้างออกโดยไม่ต้องใช้น้ำร้อนและไม่ทิ้งคราบ ซึ่งดีกว่าการใช้เทียนไขร้อนอย่างชัดเจน และน้ำทิ้งจากการลอกสารกั้นสีก็มีค่า BOD ต่ำกว่าน้ำทิ้งจากสารกั้นสีชนิดอื่นๆ โครงงานนี้จะเป็นแนวทางหนึ่งในการนำพืชในท้องถิ่นมาใช้ให้เกิดประโยชน์ ช่วยลดการใช้สารเคมีที่มีราคาสูงและผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ช่วยส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรมการผลิตผ้าหม้อฮ่อมให้มีความหลากหลายอีกทั้งยังสามารถนำไปใช้กับการทำผ้าบาติกชนิดอื่นได้ต่อไป

คำสำคัญ; สารกั้นสี แป้งหัวพืช ฮ่อมบาติก