การศึกษาสมบัติของสารสกัดจากเปลือกขิงด้วยน้ำมันจากเมล็ดพืชในท้องถิ่นเพื่อใช้ในการเคลือบเมล็ดพันธุ์ข้าวโพดป้องกันการเข้าทำลายของมอดแป้งและกระตุ้นการงอกของเมล็ดพันธุ์
- ชื่อนักเรียนผู้จัดทำโครงงานวิทยาศาสตร์
วุฒิไกร ตุ่นแก้ว, ธัญพร นางแล
- อาจารย์ที่ปรึกษาโครงงานวิทยาศาสตร์
นาถยา อุตมา
- โรงเรียนที่กำกับดูแลโครงงานวิทยาศาสตร์
- ปีที่จัดทำโครงงานวิทยาศาสตร์
บทคัดย่อโครงงานวิทยาศาสตร์
การเข้าทำลายของมอดแป้ง (Tribolium castaneum) และเปอร์เซ็นต์การงอกของเมล็ดพันธุ์ที่ต่ำเป็นปัญหาสำคัญของเกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพด โครงงานนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาผลของสารเคลือบเมล็ดพันธุ์ข้าวโพด โดยใช้สมบัติของสารสกัดจากเปลือกขิงด้วยน้ำมันจากเมล็ดพืชในท้องถิ่น โดยแบ่งเป็น 3 การทดลอง ได้แก่ การทดลองที่ 1 ศึกษาสมบัติของสารสกัดจากเปลือกขิงด้วยน้ำมันจากเมล็ดพืชในท้องถิ่น โดยใช้น้ำมันจากเมล็ดยางพารา น้ำมันเมล็ดสะเดา และน้ำมัน เมล็ดละหุ่ง ปริมาตร 200 ml. มาสกัดเปลือกขิง 100 กรัม นำสารสกัดที่ได้ มาวิเคราะห์ สี กลิ่น ค่าความหนืด และเปอร์เซ็นต์การระเหย พบว่าสารสกัดด้วยน้ำมันจากเมล็ดพืชแต่ละชนิดมีสมบัติแตกต่างกัน สารสกัดจากเปลือกขิงด้วยน้ำมันเมล็ดยางพารามีค่าความหนืดมากที่สุด การทดลองที่ 2 ศึกษาผลของน้ำมันจากเมล็ดพืชในท้องถิ่นที่ใช้สกัดสารจากเปลือกขิงต่อการป้องกันการเข้าทำลายของมอดแป้ง โดยทดสอบในกล่องทางเลือก พบว่าสารสกัดจากเปลือกขิงด้วยน้ำมันจากเมล็ดพืช มีประสิทธิภาพในการป้องกันการเข้าทำลายของมอดแป้งสูงกว่าการใช้เฉพาะน้ำมันจากเมล็ดพืช เพียงอย่างเดียว ทั้งนี้สารสกัดจากเปลือกขิงด้วยน้ำมันจากเมล็ดสะเดามีประสิทธิภาพการป้องกัน มอดแป้งได้ดีที่สุด รองลงมา คือ การใช้น้ำมันเมล็ดละหุ่ง น้ำมันเมล็ดยางพาราเป็นตัวสกัด โดยมีประสิทธิภาพ 90%, 65% และ 25% ตามลำดับ การทดลองที่ 3 ศึกษาผลของการเคลือบเมล็ดพันธุ์ข้าวโพดด้วยสารสกัดจากเปลือกขิงด้วยน้ำมันจากเมล็ดพืชในท้องถิ่นต่อการงอกของเมล็ดพันธุ์ พบว่าเมล็ดพันธุ์ข้าวโพดที่เคลือบด้วยสารสกัดจากเปลือกขิงด้วยน้ำมันเมล็ดละหุ่งมีเปอร์เซ็นต์การงอกของสูงสุด โดยมีค่าสูงกว่าสารสกัดด้วยน้ำมันเมล็ดสะเดา สารสกัดด้วยน้ำมันเมล็ดยางพาราและชุดควบคุม โดยมีเท่ากับ 95%, 70%, 65% และ 60% ตามลำดับ โครงงานนี้จะเป็นแนวทางหนึ่งในการนำขยะทางการเกษตรมาใช้ให้เกิดประโยชน์ อีกทั้งยังช่วยลดการใช้สารเคมีได้อีกทางหนึ่ง