การสกัดเพคตินจากเปลือกทุเรียนและหาปริมาณที่เหมาะสม เพื่อลดภาวะลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือดดำส่วนลึก

ชื่อนักเรียนผู้จัดทำโครงงานวิทยาศาสตร์

สรรพวิทย์ เปรี่ยมนอง, นันทิพร สิทธิโชติเลิศภักดี, ณฐวัฒน์ คำจร

อาจารย์ที่ปรึกษาโครงงานวิทยาศาสตร์

บารเมษฐ์ สิมพร

โรงเรียนที่กำกับดูแลโครงงานวิทยาศาสตร์

โรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย มุกดาหาร

ปีที่จัดทำโครงงานวิทยาศาสตร์

พ.ศ. 2566

บทคัดย่อโครงงานวิทยาศาสตร์

ทุเรียนเป็นหนึ่งในพืชเศรษฐกิจสำคัญของประเทศไทย จากสถิติพบว่าการส่งออกทุเรียนสดมีมูลค่ามากกว่าผลไม้อื่นๆ มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2557 (ศูนย์วิจัยกสิกรไทย, 2564) เปลือกทุเรียนเป็นอีกหนึ่งสิ่งที่ถูกทิ้งมากมายในช่วงที่ผลผลิตทุเรียนออกสู่ตลาด ถือเป็นวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรอีกอย่างหนึ่ง ยังพบว่าภาวะลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือดดำส่วนลึก เป็นอีกหนึ่งปัญหาที่พบในปัจจุบัน 8 ปีที่ผ่านมามีผู้ป่วยประมาณปีละ 12,900-26,800 คน คิดเป็นอัตราผู้ป่วย 200-400 คนในประชากรหนึ่งล้านคนในขณะที่ทั่วโลกมีผู้ป่วยภาวะลิ่มเลือดเพียงแค่ราว 0.5 ต่อ 1,000 คนต่อปี (กรมประชาสัมพันธ์, 2566) จากการศึกษางานวิจัยของ Zhenhua Liang และคณะ(2022) พบว่า สารภายในเพคตินที่พบในเปลือกทุเรียนสามารถลดภาวะลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือดดำส่วนลึกได้ เนื่องจากมีโพลีแซคคาไรด์ที่เป็นกรดสองชนิดคือ DZM-A และ DZM-B โพลีแซคคาไรด์สองชนิดนี้มีฤทธิ์ต้านการแข็งตัวของเลือดโดยการเพิ่ม Activated Partial thromboplastin time (APTT), Prothrombin time (PT), Thrombin time (TT) ซึ่งเพคตินจากเปลือกทุเรียนสามารถสกัดได้โดยการใช้กรดไฮโดรคลอริก หรือ น้ำกลั่น อ้างอิงจากงานวิจัยของ หยาดรุ้ง สุวรรณรัตน์ และคณะ (2019) โดยทดสอบความสามารถในการลดภาวะลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือดดำส่วนลึกของเพคตินได้โดยการใส่สารเพคตินปริมาณ 2, 4, 6, 8, และ 10 กรัมลงไปในเลือดสุกรปริมาณ 0.5 มิลลิลิตร แล้วตรวจหาค่า APTT, PT และ TT ด้วยเครื่อง Sysmex ca-1500