การสกัดไบโอแอคทีฟโปรตีนจากหัวปลาโดยใช้วิธีการไฮโดรไลซ์ด้วยเอนไซม์

ชื่อนักเรียนผู้จัดทำโครงงานวิทยาศาสตร์

ภูวนัตถ์ สุรชัยสติกุล, ภูตะวัน เชาว์ดี, พลชนก เมธากุลนาถ

อาจารย์ที่ปรึกษาโครงงานวิทยาศาสตร์

สุพัตรา สุภาวงค์

โรงเรียนที่กำกับดูแลโครงงานวิทยาศาสตร์

โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย รังสิต

ปีที่จัดทำโครงงานวิทยาศาสตร์

พ.ศ. 2566

บทคัดย่อโครงงานวิทยาศาสตร์

หัวปลาซึ่งเป็นเศษเหลือทิ้งจากอุตสาหกรรมแปรรูปปลา คิดเป็นสัดส่วนมากถึง 35% (โดยประมาณ) โดยเศษหัวปลาบางส่วนมักถูกขายให้โรงงานอาหารสัตว์ในราคาถูก แต่เศษหัวปลาส่วนใหญ่กลับไม่ได้สร้างมูลค่าอีกทั้งยังสร้างภาระในการกำจัดให้กับผู้ประกอบการและสร้างมลภาวะต่อสิ่งแวดล้อม อย่างไรก็ตามเศษหัวปลายังคงมีคุณค่าทางอาหารที่สำคัญโดยมีโปรตีนอยู่ปริมาณมาก อีกทั้งในปัจจุบันผู้คนทั่วโลกหันมาใส่ใจสุขภาพมากขึ้นทำให้ความต้องการโปรตีนมีสูงขึ้น จากสถิติพบว่าตลาดโปรตีนทั่วโลกมีมูลค่าสูงถึง 77.69 พันล้านเหรียญสหรัฐ เติบโตปีละ 5.8% ประกอบกับสังคมไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงวัยทำให้ความต้องการของตลาดโปรตีนเพิ่มสูงขึ้นอย่างก้าวกระโดด จากปัญหาที่กล่าวมาข้างต้นทีมผู้วิจัยจึงสนใจที่จะเพิ่มมูลค่าเศษเหลือทิ้งของอุตสาหกรรมเพื่อพัฒนาโปรตีนมูลค่าสูง แต่เนื่องจากโปรตีนในหัวปลานั้นแทรกอยู่ในโครงสร้างของกะโหลกปลาทำให้ยากต่อการนำโปรตีนออกมาใช้ประโยชน์ ทีมผู้วิจัยจึงใช้เทคนิคการไฮโดรไลซ์ด้วยเอนไซม์เพื่อสกัดไบโอแอคทีฟโปรตีนออกจากหัวปลา ในการทดลองนี้ผู้วิจัยได้ศึกษาการสกัดไบโอแอคทีฟโปรตีนจากเศษหัวปลาด้วยการไฮโดรไลซ์ด้วยเอนไซม์ที่ความเข้มข้นและระยะเวลาที่ต่างกัน วิเคราะห์ปริมาณผลผลิตที่สกัดได้ (Extraction yield) ปริมาณโปรตีน (Protein content) หมู่ฟังก์ชันของโปรตีน (Function group) ด้วยวิธี ATR-FTIR ศึกษาคุณสมบัติเชิงหน้าที่ของโปรตีนที่สกัดได้ ฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ (Antioxidant) และโครงสร้างระดับจุลภาค (Microstructure) ด้วย Scanning electron microscope ซึ่งไบโอแอคทีพโปรตีนที่พัฒนาขึ้นนี้จะเป็นอีกหนึ่งทางเลือกสำหรับผู้บริโภคที่ต้องการโปรตีนที่มีคุณสมบัติเชิงหน้าที่ที่ดีต่อสุขภาพ อีกทั้งยังเป็นการเพิ่มมูลค่าให้กับเศษหัวปลาเหลือทิ้งจากอุตสาหกรรม