ต้นแบบเครื่องตากข้าวประหยัดพลังงาน

ชื่อนักเรียนผู้จัดทำโครงงานวิทยาศาสตร์

ธีรภัทร สุภัควนิช, วชิยากรณ์ ไสวอมร, สรวิศ เจริญธรรม

อาจารย์ที่ปรึกษาโครงงานวิทยาศาสตร์

ธารทิพย จันทรนิมะ​, ชุมพล ชารีแสน

โรงเรียนที่กำกับดูแลโครงงานวิทยาศาสตร์

โรงเรียนกาฬสินธุ์พิทยาสรรพ์

ปีที่จัดทำโครงงานวิทยาศาสตร์

พ.ศ. 2566

บทคัดย่อโครงงานวิทยาศาสตร์

ข้าวเป็นอาหารหลักที่คนไทยและคนเอเชียนิยมบริโภคมาช้านาน การขายข้าวจึงเป็นรายได้หลักของชาวนา ขั้นตอนสำคัญที่ชาวนาต้องทำในการเตรียมข้าวก่อนนำมาจำหน่าย คือ การลดความชื้นในเมล็ดข้าวเปลือก เรียกว่า การตากข้าว โดยวิธีการที่ชาวนาใช้ตากข้าว คือ การใช้ผ้าไนลอนปูรองพื้นและเกลี่ยข้าวให้กระจายทั่วพื้นที่ผ้าไนลอนแบะต้องทำการกลับข้าวทุกๆ 2 ชั่วโมง ในเวลากลางคืนต้องนำวัสดุมาคลุมข้าวเพื่อป้องกันน้ำค้างหรือฝน (กองวิจัยและพัฒนาข้าว กรมข้าว, 2559)ด้วยวิธีการตากข้าวเช่นนี้ ชาวนาต้องใช้พื้นที่บริเวณกว้าง จึงมักใช้การตากข้าวตามลานเอนกประสงค์หรือตามถนนซึ่งขัดขวางเส้นทางการคมนาคม ทำให้ชาวนาประสบปัญหาเกี่ยวกับการแย่งชิงพื้นที่ในการตากข้าวดังที่เห็นตามข่าว ทั้งยังใช้เวลาในการตากข้าวนานและระยะเวลาไม่แน่นอนขึ้นอยู่กับปริมาณแสงแดด อีกทั้งการตากข้าวแบบตากลานนั้นอาจได้ความชื้นในข้าวที่ไม่เหมาะสมกับการนำไปสีข้าวและทำให้ข้าวที่สีออกมานั้นไม่ได้คุณภาพ ซึ่งส่งผลให้ข้าวเปลือกที่ชาวนาตากแบบลานนั้นถูกกดราคาจากโรงสีต่างๆและโรงสีนั้นยังต้องนำข้าวเปลือกที่ตากไม่แห้งพอเหมาะไปทำการอบเพิ่มทำให้เกิดการสิ้นเปลืองพลังงานในการอบข้าวลดความชื้นเพิ่มนั้นเอง

คณะผู้จัดทำเล็งเห็นถึงปัญหาดังกล่าวจึงเกิดแนวคิดว่าถ้าหากชาวนาสามารถตากข้าวในพื้นที่ที่จำกัดและใช้เวลาตากข้าวน้อยลง ทั้งยังสามารถกำหนดระยะเวลาที่ข้าวจะแห้งพอดีจากการใช้เซ็นเซอร์ตรวจวัดค่าความชื้นสัมพัทธ์และค่าความเข้มแสง ซึ่งจะสามารถแก้ปัญหาในเรื่องของพื้นที่และระยะเวลาที่ใช้ในการตากข้าวและแก้ปัญหาในเรื่องความชื้นในข้าวเปลือกที่ไม่แน่นอนในการตากลาน คณะผู้จัดทำจึงได้นำแนวคิดทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาประยุกต์เพื่อพัฒนาต้นแบบเครื่องตากข้าวประหยัดพลังงาน