การชะลอการปลดปล่อยปุ๋ยยูเรียเคลือบด้วยไฮโดรเจลแก่พืชปลูก
- ชื่อนักเรียนผู้จัดทำโครงงานวิทยาศาสตร์
ศศิประภา เฉลียวไว, ศุภาพิชญ์ รู้ทำนอง, เขมจิรา ทะนันแปง
- อาจารย์ที่ปรึกษาโครงงานวิทยาศาสตร์
พิพัฒน์ เชื้อเมืองพาน, ปิยะวรรณ ปัญญะโส
- โรงเรียนที่กำกับดูแลโครงงานวิทยาศาสตร์
- ปีที่จัดทำโครงงานวิทยาศาสตร์
บทคัดย่อโครงงานวิทยาศาสตร์
การใช้ปุ๋ยเคมีเป็นการเพิ่มผลผลิตทางการเกษตร ซึ่งพืชสามารถดูดซึมไปใช้ได้เพียง 20 – 40 % เนื่องจากปุ๋ยเคมีสูญเสียโดยการระเหิดจากแสงแดดและความร้อน ถูกชะล้างโดยน้ำฝนไปตามแหล่งน้ำ ทำให้เกิดมลภาวะ
ทางอากาศและแหล่งน้ำ อีกทั้งยังทำให้ความเข้มข้นของสารละลายในดินสูงกว่าในรากพืชทำให้น้ำเกิดกระบวนการออสโมซิสออกจากรากเข้าสู่ดินที่มีความเข้มข้นของปุ๋ยไนโตรเจนในปริมาณที่สูง ทำให้พืชขาดน้ำ ใบมีลักษณะหงิกงอ โครงงานนี้จะศึกษาประสิทธิภาพการชะลอการปลดปล่อยปุ๋ยยูเรียเคลือบไฮโดรเจล และทดสอบการนำปุ๋ยยูเรียที่เคลือบไฮโดรเจลไปใช้ในการช่วยการเจริญเติบโตของต้นพริก โดยการสกัดเซลลูโลสจากฟางข้าวด้วยโซเดียมไฮดรอกไซด์เข้มข้น 45% w/v ที่อุณหภูมิ 90 °C แล้วทำเป็นคาร์บอกซิลเมทิลเซลลูโลส (CMC) สังเคราะห์ไฮโดรเจล โดยเตรียมได้จาก CMC ผสมกับพอลิไวนิลแอลกอฮอล์ บอแรกซ์ และกลีเซอรอล ขึ้นรูปเป็นแผ่นฟิล์ม นำแผ่นฟิล์มที่ได้ไปเคลือบปุ๋ยยูเรีย ทดสอบประสิทธิภาพการชะลอการปลดปล่อยปุ๋ยยูเรียและทดสอบการนำปุ๋ยที่เคลือบไฮโดรเจลไปใช้ในการช่วยการเจริญเติบโตของต้นพริก พบว่า ปุ๋ยที่ไม่ถูกเคลือบไฮโดรเจล ใช้เวลาเฉลี่ยในการละลายหมด 2.6 นาที ปุ๋ยที่ถูกเคลือบไฮโดรเจล ใช้เวลาเฉลี่ยในการละลายหมด 64.6 นาที ซึ่งไฮโดรเจลสามารถชะลอการปลดปล่อยปุ๋ยได้ 32 เท่า ต้นพริกที่ใช้ปุ๋ยที่ไม่ได้เคลือบไฮโดรเจลมีลําต้นสูงเฉลี่ย 7.5 cm และมีจำนวนใบเฉลี่ย 9 ใบ ใบมีลักษณะหงิกงอ ในขณะที่ต้นพริกที่ใส่ปุ๋ยที่เคลือบด้วยไฮโดรเจลมีลําต้นสูงเฉลี่ย 9.2 cm และมีจำนวนใบเฉลี่ย 13 ใบ นั่นคือ ต้นพริกที่ใช้ปุ๋ยเคลือบไฮโดรเจลมีการเจริญเติบโตมากกว่าต้นพริกที่ใช้ปุ๋ยไม่เคลือบไฮโดรเจล คิดเป็น 22.7 % และ 44.4 % ตามลำดับ