อุปกรณ์ลดไมโครพลาสติกในน้ำทะเลโดยใช้การกรองและอัลตราโซนิก

ชื่อนักเรียนผู้จัดทำโครงงานวิทยาศาสตร์

อริยธัช ธีรพิทยานนท์, อริญชัย ดีชู, ปวีณ น้ำสงวน

อาจารย์ที่ปรึกษาโครงงานวิทยาศาสตร์

กัญญาลภัส ธีรพิทยานนท์, กนกพร เจริญรัตน์

โรงเรียนที่กำกับดูแลโครงงานวิทยาศาสตร์

โรงเรียนเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระศรีนครินทร์ ภูเก็ต

ปีที่จัดทำโครงงานวิทยาศาสตร์

พ.ศ. 2566

บทคัดย่อโครงงานวิทยาศาสตร์

ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีขยะพลาสติกในทะเลมากที่สุดเป็นอันดับที่ 10 ของโลก มีปริมาณขยะพลาสติกที่ไหลลงสู่ทะเล 22,806 เมตริกตันต่อปี ซึ่งปัจจุบันไมโครพลาสติกในทะเลไปไกลถึงบริเวณขั้วโลกแต่ยังไม่สูงเท่ากับที่พบใประเทศไทย มลพิษพลาสติกเหล่านี้เป็นภัยคุกคามต่อสิ่งมีชีวิตในทะเล เป็นภัยอันตรายกับสิ่งมีชีวิตบนโลก พบว่าโดยเฉลี่ยมนุษย์น่าจะมีไมโครพลาสติกอยู่ในกระเพาะอาหารมากกว่า 10,000 ชิ้น โดยขยะพลาสติกที่เกิดขึ้นบนพื้นโลกกำลังไหลเวียนอยู่ในมหาสมุทรและเดินทางต่อไปในทุกทิศทุกทางโดยไม่มีการแบ่งแยกอาณาเขต มลพิษขยะพลาสติกที่มนุษย์สร้างขึ้นกำลังคุกคามมนุษย์อย่างเงียบๆ นอกจากการลดการใช้พลาสติกและการลดการปนเปื้อนพลาสติกสู่สิ่งแวดล้อมแล้วยังต้องช่วยกันลดปริมาณขยะพลาสติกที่แพร่กระจายอยู่ในสิ่งแวดล้อมเพื่อให้โลกน่าอยู่ขึ้น คณะผู้จัดทำเกิดความตระหนักในปัญหาของขยะไมโครพลาสติกในทะเลและสนใจการทำโครงงานเพื่อลดปริมาณไมโครพลาสติกในทะเล โดยให้ความสนใจศึกษาบริเวณศึกษาปลายแหลมสะพานหินภูเก็ต ที่มีการถมทะเลเพื่อเพิ่มพื้นที่สาธารณประโยชน์ โดยใช้วัสดุส่วนหนึ่งเป็นดินโคลนที่ลอกจากคลองกอจ๊านและใช้วัสดุอีกส่วนเป็นขยะและซากจากการรื้อถอนสิ่งปลูกสร้าง คณะผู้จัดทำจึงสนใจทำอุปกรณ์ลดไมโครพลาสติกในน้ำทะเลโดยใช้อัลตราโซนิกและระบบการดักกรอง เพื่อสร้างและทดสอบประสิทธิภาพของเครื่องในการลดไมโครพลาสติกในน้ำทะเล โดยเก็บตัวอย่างน้ำทะเล 3 จุด กรองด้วยแผ่นกรองละเอียดและใช้เครื่องในการลดไมโครพลาสติกในน้ำทะเล พบว่าประสิทธิภาพการดักจับไมโครพลาสติกเฉลี่ยจากจำนวนไมโครพลาสติกทั้งหมดที่พบ จากการกรองผ่านอุปกรณ์ลดไมโครพลาสติกในน้ำทะเลโดยใช้อัลตราโซนิกและระบบการดักกรองมากกว่าการกรองด้วยผ้ากรองละเอียดธรรมดา 49.28 % แม้จะเป็นส่วนน้อยที่สามารถทำได้เมื่อเทียบกับปริมาณน้ำทะเลที่มีอยู่ในโลก แต่คณะผู้จัดทำหวังที่จะเป็นจุดเริ่มต้นจุดเล็กๆ ในการให้ความใส่ใจต่อสิ่งแวดล้อมที่มีผลต่อชีวิตของมนุษย์และห่วงโซ่อาหารของมนุษย์โดยตรง