แผ่นเพาะเมล็ดด้วยวัสดุเหลือทิ้งจากโรงงานปาล์มน้ำมัน

ชื่อนักเรียนผู้จัดทำโครงงานวิทยาศาสตร์

สุพิชชา ธนูอินทร์, รตนกร จินดาพล

อาจารย์ที่ปรึกษาโครงงานวิทยาศาสตร์

กนกอร แซ่อึ่ง

โรงเรียนที่กำกับดูแลโครงงานวิทยาศาสตร์

โรงเรียนมอ.วิทยานุสรณ์ สุราษฎร์ธานี

ปีที่จัดทำโครงงานวิทยาศาสตร์

พ.ศ. 2565

บทคัดย่อโครงงานวิทยาศาสตร์

ในปัจจุบันการเพิ่มจำนวนของประชากร และการขยายตัวของชุมชนเมืองส่งผลให้พื้นที่ที่เหมาะสมสำหรับการเพาะปลูกมีน้อยลง อีกทั้งยังมีการปนเปื้อน ด้วยข้อจำกัดเหล่านี้ ทำให้แนวโน้มของการปลูกพืชโดยไม่ใช้ดินได้รับความนิยมเพิ่มขึ้น ดังนั้น หากมีการพัฒนาวัสดุสำหรับการปลูกพืชที่ใช้งานทดแทนดินได้ ขณะเดียวกัน มีสมบัติเชิงกลที่เหมาะสมจะติดตั้งระบบการทำเกษตรทางเลือก เช่น การทำสวนแนวตั้ง (Vertical gardening) จะช่วยแก้ปัญหาพื้นที่เพาะปลูกได้ ด้วยเหตุนี้ คณะผู้วิจัยจึงต้องการประดิษฐ์วัสดุสำหรับการปลูกพืชในรูปแบบแผ่นเพาะเมล็ดจากทะลายปาล์ม เนื่องจาก ทะลายปาล์มเป็นวัสดุที่เหลือทิ้งจากโรงงานแปรรูปปาล์มน้ำมันในปริมาณที่มาก ประกอบด้วยเส้นใยที่มีรูพรุนและดูดซับความชื้นได้ดี ใช้วิธีการผลิตด้วยการนำเส้นใยทะลายอบแห้งกระบวนการอัดเย็นและอัดร้อน ในกระบวนการอัดเย็นจะใช้แป้งเปียกเป็นตัวประสานและศึกษาอัตราส่วนที่เหมาะสมระหว่างแป้งเปียกและทะลายปาล์ม ส่วนกระบวนการอัดร้อนจะศึกษาอุณหภูมิและระยะเวลาที่ใช้ในการอัด แล้วนำแผ่นเพาะปลูกที่ได้มาทดสอบสมบัติทางกายภาพ ได้แก่ สมบัติทางกายภาพ สมบัติเชิงกล การดูดซึมน้ำ หลังจากนั้นทดลองใช้ในการเพาะเมล็ดผักบุ้งให้เป็นต้นอ่อน เพื่อประเมินอัตราการงอก อัตราการเจริญเติบโตเทียบกับการใช้ดิน รวมถึงสมบัติทางกายภาพของแผ่นเพาะปลูกที่เปลี่ยนแปลงไประหว่างการใช้งาน เพื่อให้ได้แผ่นเพาะปลูกที่สมบัติดีที่สุดเมื่อเทียบกับดิน อีกทั้งยังพัฒนาให้เหมาะสมต่อการเพาะปลูกรูปแบบใหม่นอกจากจะเพิ่มมูลค่าของชีวมวลเหลือทิ้งจากอุตสาหกรรม ยังช่วยลดปัญหาสิ่งแวดล้อมจากการจัดการที่ไม่ถูกวิธีอีกด้วย