การศึกษาประสิทธิภาพของสารสกัดจากสมุนไพรไทยต่อการกระตุ้นการเปลี่ยนแปลงของเซลล์ต้นกำเนิดประสาทไปเป็นเซลล์ในระบบประสาท

ชื่อนักเรียนผู้จัดทำโครงงานวิทยาศาสตร์

มุฮัมมัด บินฮาร์

อาจารย์ที่ปรึกษาโครงงานวิทยาศาสตร์

ณัฐพงศ์ นพโลหะ

โรงเรียนที่กำกับดูแลโครงงานวิทยาศาสตร์

โรงเรียนบางปะกอกวิทยาคม

ปีที่จัดทำโครงงานวิทยาศาสตร์

พ.ศ. 2562

บทคัดย่อโครงงานวิทยาศาสตร์

เซลล์ต้นกำเนิดประสาทต้น (Neural Stem Cells) คือเซลล์ที่ยังไม่ได้ถูกกำหนดว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงไปเป็นเซลล์ประสาทแบบใด เซลล์เหล่านี้มีความสามารถในเปลี่ยนแปลงตัวของมันเป็นโปรเจนิเตอร์เซลล์ (progenitor cells) ซึ่งมีเป้าหมายที่จำเพาะเจาะจงในการเปลี่ยนแปลงมากกว่าเซลล์ต้นกำเนิด โดยที่เซลล์เหล่านี้นั้นส่วนใหญ่จะเปลี่ยนแปลงไปเป็นเซลล์ประสาท (Neuron) และเซลล์เกลีย (glial cell) ซึ่งแต่เดิมเคยเชื่อว่าเซลล์สมองนั้นเป็นระบบปิดและจะไม่มีการพัฒนาต่ออีกเลยเมื่อพ้นช่วงวัยๆหนึ่งไปแล้วจนมีการค้นพบเซลล์ต้นกำเนิดประสาทขึ้นในปี 1998 โดยค้นพบครั้งแรกบริเวณสมองส่วน hippocampus และค้นพบเซลล์ชนิดนี้ในสภาพพร้อมทำงาน ณ บริเวณ olfactory bulb อีกทั้งยังพบเซลล์ต้นกำเนิดประสาทในสภาพที่ไม่พร้อมทำงานอยู่ในอีกหลายส่วนของสมองรวมถึงไขสันหลัง

​ในผู้ป่วยที่ประสบอุบัติเหตุถึงขั้นที่สมองได้รับการบาดเจ็บ หรือชิ้นส่วนอวัยวะและเส้นประสาทขาดและได้รับการต่อใหม่นั้น บางรายไม่สามารถที่จะรักษาให้สมองกลับมาทำงานเป็นปกติ หรือควบคุมอวัยวะส่วนที่ต่อกลับมาให้ขยับตามที่สั่งการได้เนื่องจากเส้นประสาทยังไม่ได้มีการเชื่อมต่อกันจึงมีแนวคิดทางการแพทย์ที่ต้องการนำเซลล์ต้นกำเนิดประสาทมาปลูกถ่าย ณ จุดที่ต้องการของสมอง หรือให้เส้นประสาทเชื่อมประสานกันและใช้สารที่มีความสามารถในการกระตุ้นการทำงานของเซลล์ต้นกำเนิดประสาท เร่งการแบ่งตัวและการเปลี่ยนแปลงเป็นเซลล์เป้าหมาย เช่น เซลล์ประสาท และเซลล์เกลีย

ทั้งนี้มีการค้นพบว่าสารสกัดหลายชนิดจากสมุนไพรไทยนั้นมีคุณสมบัติในการกระตุ้นการเปลี่ยนแปลงของเซลล์ต้นกำเนิด ซึ่งเป็นที่น่าสนใจอย่างมากเนื่องจากสมุนไพรเหล่านี้ต่างก็เป็นพืชท้องถิ่นของประเทศไทยที่หาได้ง่ายและจะมีราคาต่ำกว่าเมื่อเทียบกับสารที่นำเข้าจากต่างประเทศ โดยมีสารสกัดที่ผู้จัดทำนั้นให้ความสนใจคือ Asiatic acid ซึ่งเป็นสารสกัดที่ได้จากต้นบัวบก ซึ่งพบได้ทั่วไปในพื้นที่แถบเอเชียอาคเนย์ บัวบกนั้นเชื่อว่าเป็นสมุนไพรที่มีส่วนช่วยในการเพิ่มความสามารถในการเรียนรู้และการจดจำอีกทั้งยังมีรายงานว่า Asiatic acid นั้นมีความสามารถในการฟื้นฟูเซลล์ในระบบประสาทด้วยเช่นกัน สารต่อมาคือ ECDD-S16 และ ECDD-S18 ซึ่งเป็นสารที่สกัดได้จากต้นไคร้หางนาคโดยมหาวิทยาลัยมหิดลซึ่งอยู่ในระหว่างการทดลองโดยพบว่ามีคุณสมบัติในการเร่งการเปลี่ยนแปลงของเซลล์ต้นกำเนิดประสาทไปเป็นเซลล์เกลีย โดยทางผู้จัดทำนั้นมีความสนใจที่จะนำสารสกัดจากสมุนไพรไทยเหล่านี้มาทดสอบกับเซลล์ต้นกำเนิดประสาทเพื่อศึกษาว่าสารเหล่านั้นมีประสิทธิภาพในการกระตุ้นการเปลี่ยนแปลงของเซลล์ต้นกำเนิดประสาทไปเซลล์ประสาท และเซลล์เกลียได้หรือไม่