ราในมูลหนอนแมลงวันลาย และการประยุกต์ใช้ควบคุมโรคแอนแทรคโนสในทุเรียน
- ชื่อนักเรียนผู้จัดทำโครงงานวิทยาศาสตร์
ชมชนม์ อ้วนศิริ, พงษ์สิริ พัฒนประสิทธิ์ชัย
- อาจารย์ที่ปรึกษาโครงงานวิทยาศาสตร์
ปิยังกูล เหลืองเจริญกิจ, ทิชากร สัตย์จริง
- โรงเรียนที่กำกับดูแลโครงงานวิทยาศาสตร์
- ปีที่จัดทำโครงงานวิทยาศาสตร์
บทคัดย่อโครงงานวิทยาศาสตร์
ทุเรียนเป็นผลไม้ที่ประเทศไทยเป็นผู้ผลิตและผู้ส่งออกรายใหญ่ของโลก ซึ่งในปี 2557 พบว่าการส่งออกทุเรียนนำเงินเข้าประเทศกว่า 9,000 ล้านบาท แต่ก็ยังคงพบว่าความต้องการทุเรียนของผู้บริโภคในตลาดที่ยังคงมีอยู่อีกมาก โรคแอนแทรคโนสหรือโรคใบไหม้ เป็นโรคหนึ่งที่มีความสำคัญต่อการปลูกและผลทุเรียน ซึ่งเกิดจากเชื้อรา Colletotrichum gloeosporioides โดยอาการจะแสดงชัดเจนช่วงออกดอกและติดผลในฤดูแล้ง ต้นทุเรียนที่ติดเชื้อราจะมีแผลบนใบ ซึ่งใบที่ติดเชื้อเหล่านั้นจะไม่ร่วงหล่นจากต้นโดยง่าย จึงทำให้เป็นแหล่งแพร่เชื้อสู่ผลทุเรียนได้ โดยปกติแล้วการกำจัดโรคแอนแทรคโนสสามารถทำได้โดยการฉีดพ่นสารเคมีกำจัดโรคพืช อย่างไรก็ตามสารเคมีเหล่านั้นก็ยังคงตกค้างอยู่ในผลทุเรียนและสิ่งแวดล้อม การใช้สารชีวภาพจำพวกเชื้อราที่มีศักยภาพในการยับยั้งเชื้อราก่อโรคแอนแทรคโนสจึงเป็นหนึ่งในทางเลือกที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยเชื้อราในมูลสัตว์หลายชนิดสามารถยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อราบางชนิดได้ ซึ่งมูลหนอนแมลงวันลายประกอบไปด้วยอินทรียวัตถุเป็นส่วนใหญ่จึงสามารถพบเชื้อรามูลสัตว์ได้ นอกจากนี้หนอนแมลงวันลายยังสามารถนำไปใช้ในการย่อยสลายขยะอินทรีย์ หรือทำเป็นอาหารสัตว์ที่มีโปรตีนสูงทดแทนแหล่งโปรตีนเดิมที่มีราคาสูงได้ จากเหตุผลข้างต้นทำให้คณะผู้จัดทำมีความสนใจที่จะคัดแยกเชื้อราจากมูลหนอนแมลงวันลายที่มีศักยภาพในการยับยั้งเชื้อราก่อโรคแอนแทรคโนสในทุเรียน เพื่อส่งเสริมการเลี้ยงหนอนแมลงวันลาย, ลดโอกาสการดื้อยาของเชื้อราก่อโรค, ลดการใช้สารเคมีในการกำจัดโรคในทุเรียน และเพิ่มผลผลิตของทุเรียนอันเป็นผลไม้เด่นของประเทศไทยให้สูงขึ้น