วัสดุปิดแผลจากแกรฟีน

ชื่อนักเรียนผู้จัดทำโครงงานวิทยาศาสตร์

นริชา เอี่ยมพักตร์, ธัญภัทร กลิ่นแก้ว, วิชญาพร คำเพิ่ม

อาจารย์ที่ปรึกษาโครงงานวิทยาศาสตร์

วิภาวี ศรีหานนท์

โรงเรียนที่กำกับดูแลโครงงานวิทยาศาสตร์

โรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย ลพบุรี

ปีที่จัดทำโครงงานวิทยาศาสตร์

พ.ศ. 2561

บทคัดย่อโครงงานวิทยาศาสตร์

โครงงานเรื่อง วัสดุปิดแผลจากแกรฟีน มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) ศึกษาความเข้มข้นของโพลิเอทิลีนไกลคอล ในการขึ้นรูปวัสดุปิดแผลจากแกรฟีน 2) ศึกษาอัตราส่วนแกรฟีนต่อสารละลายผสมโพลิไวนิลแอลกอฮอล์-โพลิเอทิลีนไกลคอล ที่เหมาะสมในการขึ้นรูปวัสดุปิดแผลจากแกรฟีน ดำเนินการทดลอง โดยแบ่งเป็น 2 การทดลอง การทดลองที่ 1 ศึกษาความเข้มข้นของโพลีเอทิลีนไกลคอลที่เหมาะสมในการขึ้นรูปวัสดุปิดแผลจากแกรฟีน ดำเนินการทดลอง โดยเตรียมสารละลายผสม 3.07x10 -1 M โพลิไวนิลแอลกอฮอล์-โพลิเอทิลีนไกลคอล ความเข้มข้น 30, 35 และ 50 %w/w จากนั้นขึ้นรูปเป็นวัสดุที่มีคุณสมบัติเป็นแอโรเจล-ฟิล์ม ด้วยวิธีการแคสฟิล์ม (Casting film method) และนำไปทดสอบการละลายในตัวทำละลาย ได้แก่ สารละลายกรดไฮโดรคลอริก, สารละลายโซเดียมไฮดรอกไซด์ และน้ำปราศจากไอออน พบว่าความเข้มข้นของโพลิเอทิลีนไกลคอลที่เหมาะสมต่อการขึ้นรูปวัสดุปิดแผล คือ 35 % w/w ใช้เวลาในการละลายมากที่สุด เพื่อไม่ให้ละลายไปกับสารคัดหลั่ง การทดลองที่ 2 ศึกษาอัตราส่วนแกรฟีนต่อสารละลายผสมโพลิไวนิลแอลกอฮอล์-โพลิ-เอทิลีนไกลคอล ที่เหมาะสมในการขึ้นรูปวัสดุปิดแผลจากแกรฟีน โดยสังเคราะห์แกรฟีน ด้วยวิธี Hummer’s method จะได้สารละลายผสมแกรฟีน-โพลิไวนิลแอลกอฮอร์-โพลิเอทิลีนไกลคอล โดยในการทดลองนี้ใช้สารละลายผสม 2 อัตราส่วน ได้แก่ 1 : 1 และ 2 : 1 จากนั้นขึ้นรูปเป็นวัสดุปิดแผลที่มีคุณสมบัติเป็นแอโรเจล-ฟิล์ม ด้วยวิธีการแคสฟิล์ม นำไปทดสอบความต้านทานแรงดึง, ทดสอบการยับยั้งเชื้อจุลินทรีย์, ทดสอบความเป็นพิษต่อเซลล์ และนำไปสังเกตผลด้วยตาเปล่า พบว่าอัตราส่วนที่เหมาะสมสำหรับการขึ้นรูปวัสดุปิดแผลจากแกรฟีน คือ 2:1 มีความยืดหยุ่นที่ดี มีความสามารถในการต้านเชื้อจุลินทรีย์ได้ และเป็นพิษต่อเซลล์น้อย