การศึกษาความสัมพันธ์ของการเข้าผสมเกสรของแตนมะเดื่อกับการติดผลและคุณภาพของผลเพื่อนำมาใช้ ในการผลิตผลมะเดื่ออุทุมพรในเชิงพานิชย์

ชื่อนักเรียนผู้จัดทำโครงงานวิทยาศาสตร์

คริษฐ คีรีแก้ว, กรกนก พรมรักษ์, ธีรทีปต์ บุญเลิศ

อาจารย์ที่ปรึกษาโครงงานวิทยาศาสตร์

เกียรติศักดิ์ อินราษฎร

โรงเรียนที่กำกับดูแลโครงงานวิทยาศาสตร์

โรงเรียนดำรงราษฎร์สงเคราะห์

ปีที่จัดทำโครงงานวิทยาศาสตร์

พ.ศ. 2563

บทคัดย่อโครงงานวิทยาศาสตร์

บทคัดย่อ

มะเดื่ออุทุมพรเป็นไม้ยืนต้นที่มีผลขนาดใหญ่ ออกลูกดก สามารถรับประทานได้และคุณค่าทางโภชนาการสูง แต่ภายในผลสุกมักมีแตนมะเดื่ออยู่ภายในจึงไม่ได้รับการพัฒนาเป็นไม้ผลในเชิงพาณิชย์ โครงงานนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อการศึกษาความสัมพันธ์ของการเข้าผสมเกสรของแตนมะเดื่อกับการติดผลและคุณภาพของผลเพื่อนำมาใช้ในการผลิตผลมะเดื่ออุทุมพรในเชิงพานิชย์ โดยแบ่งเป็น 3 การทดลอง ดังนี้ การทดลองที่ 1 ศึกษาพฤติกรรมการเข้าผสมเกสรของแตนมะเดื่อ โดยปล่อยแตนมะเดื่อ (Eupristina verticillata) ตัวเต็มวัย ตัวเมีย จำนวน 100 ตัว และตัวผู้ 50 ตัว ในกล่องทดสอบที่มีช่อดอกมะเดื่ออุทุมพรอายุต่างๆ ได้แก่ 5, 10, 15, 20, 25, 30, 35, 40 และ 45 วัน สังเกตพฤติกรรมในการเข้าผสมเกสร พบว่าแตนตัวเมียจะเจาะเข้าเข้าผสมเกสรผ่านช่อง ostiole ใช้เวลาในการเจาะเข้าผสมทั้งหมด 2.5 ชั่วโมง แตนตัวเมียทั้งหมดจะเจาะเข้าช่อดอกได้ ในขณะที่แตนตัวผู้จะตาย ทั้งนี้ช่อดอกมะเดื่ออายุ 10 วัน เป็นช่วงอายุน้อยที่สุดที่แตนมะเดื่อเริ่มเข้าผสมเกสร และเมื่อผลเดื่ออายุมากขึ้นแตนมะเดื่อจะเข้าผสมมากยิ่งขึ้นจนช่อดอกมีอายุ 25 วัน จำนวนแตนมะเดื่อจะเข้าไปผสมเกสรสูงที่สุด จากนั้นจึงมีจำนวนลดลงจนกระทั่งผลเริ่มสุกแล้ว การทดลองที่ 2 ศึกษาผลของการเข้าผสมเกสรของแตนมะเดื่อกับการติดผลและคุณภาพของผล พบว่าช่อดอกมะเดื่อที่ได้รับการเข้าผสมเกสรจะสามารถติดผลจนเป็นผลสุกได้ 94.2% ในขณะที่ช่อดอกที่ไม่ได้รับการเข้าผสมเกสรมีเพียง 8.3% เท่านั้นที่จะสามารถติดผลจนเป็นผลสุกได้ ขณะเดียวกันผลที่ไม่ได้รับการผสมเกสรนี้ยังมีน้ำหนักน้อยกว่าถึง 1.52 เท่า การทดลองที่ 3 ได้พัฒนาอุปกรณ์ในการช่วยผสมเกสรของผลมะเดื่อโดยเลียนแบบพฤติกรรมของแตนมะเดื่อ โดยออกแบบอุปกรณ์ที่ประกอบด้วยส่วนเจาะและส่วนช่วยผสมเกสร นำไปทดสอบการผสมเกสรของช่อดอกมะเดื่อพบว่าอุปกรณ์ดังกล่าวสามารถทำให้เกิดการติดผลของมะเดื่อได้ 100% และผลสุกที่ได้มีน้ำหนัก มีความหนา syconium ปริมาณของแข็งทั้งหมด และปริมาณกรดที่ไตเตรตได้ไม่แตกต่างจากชุดที่มีการเข้าผสมเกสรของแตนมะเดื่อ แต่มีข้อดีคือจะไม่พบแตนมะเดื่ออยู่ภายใน โครงงานนี้จะเป็นแนวทางหนึ่งในการพัฒนาวิธีการเพื่อเป็นแนวทางในการผลิตมะเดื่ออุทุมพรในเชิงพาณิชย์ต่อไป