การศึกษาการยืดอายุของแป้งประเภทต่างๆด้วยสารแทนนินจากเปลือกหมาก เปลือกมังคุด และใบพลู เพื่อทดแทนสารกันบูด

ชื่อนักเรียนผู้จัดทำโครงงานวิทยาศาสตร์

ณัฐรดา วงศ์แก้ว

อาจารย์ที่ปรึกษาโครงงานวิทยาศาสตร์

ศักรินทร์ อะจิมา

โรงเรียนที่กำกับดูแลโครงงานวิทยาศาสตร์

โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ปทุมวัน

ปีที่จัดทำโครงงานวิทยาศาสตร์

พ.ศ. 2566

บทคัดย่อโครงงานวิทยาศาสตร์

โครงงานนี้เป็นการศึกษาต่อจากงานวิจัยเดิมที่ผู้ทดลองได้ทำมาในช่วงเดือนพฤษภาคมปี 2566 เรื่องการใช้สารแทนนินจาก เปลือกมังคุด เปลือกหมาก และใบพลู เพื่อยืดอายุแป้งเกี๊ยวสดโดยไม่ทำให้แป้งเกี๊ยวเสียรสชาติ และช่วยชะลอการเกิดเชื้อราในแป้งเกี๊ยวสด

ซึ่งจากงานวิจัยเดิมสามารถยืนยันได้ว่าสารแทนนินจากพืชทั้งสามชนิดที่นำมาทดลอง สามารถยืดอายุแป้งเกี๊ยวได้จริง และรสฝาดในวัตถุดิบที่นำมาใช้ไม่เป็นปัญหาในเรื่องรสชาต ถ้าเราหาอัตราส่วนในการผสมที่เหมาะสม

ผู้ทดลองตะหนักว่าแป้งถือได้ว่าเป็นแหล่งอาหารหลักของคนทั่วโลก ในทุกวันนี้มีการนำวัตถุดิบจากธรรมชาติมาแปรรูปเป็นแป้งชนิดต่างๆ เพื่อนำไปผลิตเป็นอาหาร และขนม หลากหลายประเภท แต่อาหารจากแป้งก็มักเกิดปัญหาเดียวกันนั่นคือเก็บไว้ได้ไม่นาน เพราะเกิดเชื้อราได้ง่ายจึงต้องมีการนำสารกันบูด(Preservatives) เข้ามาใช้ ซึ่งสวนทางกับความต้องการของผู้คนในปัจจุบันที่คนหันมาใส่ใจต่อเรื่องสุขภาพ และอาหารการกินที่ปลอดสารเคมี ถ้าเราสามารถใช้วัตถุดิบจากธรรมชาติเข้ามาชะลอการเติบโตของเชื้อราในแป้ง เพื่อทดแทนสารกันบูดได้จะทำให้เกิดประโยชน์ในวงกว้าง

ดังนั้นจึงนำผลสำเร็จในการทดลองแรกมาต่อยอดทำการทดลองกับแป้งชนิดต่างๆ ดังนี้ แป้งสาลี แป้งข้าวโพด แป้งข้าวเจ้า และแป้งข้าวเหนียว ซึ่งแป้งเหล่านี้เป็นแป้งที่ใช้ทำอาหาร และขนม หลากหลายประเภท โดยยังคงใช้ เปลือกมังคุด เปลือกหมาก และใบพลู มาทำการทดลองแม้จะทราบว่าเปลือกมังคุดมีประสิทธิภาพในการชะลอการเกิดเชื้อราได้สูงสุด แต่อาหารประกอบไปด้วยสีสันที่หลากหลาย แม้เปลือกหมากจะมีประสิทธิภาพในการชะลอเชื้อราได้น้อยสุดแต่ก็ยืดอายุอาหารได้นานขึ้น และสามารถนำไปเป็นส่วนผสมของอาหารที่ไม่ต้องการสีสันได้

ขั้นแรกเป็นการทดลองตรวจหาสารแทนนินในเปลือกมังคุด เปลือกหมาก และใบพลู โดยใช้. FeCl3 ความเข้มข้น 5% เพื่อทดสอบว่าวัตถุดิบที่เลือกมามีสารแทนนินอยู่จริง

ขั้นต่อมาจะทำการศึกษาความสามารถในการชะลอการเกิดเชื้อราในแป้งสาลี แป้งข้าวโพด แป้งข้าวเจ้า และแป้งข้าวเหนียว ที่ผสมน้ำเปล่า เทียบกับแป้งที่ผสมน้ำสกัดเปลือกมังคุด เปลือกหมาก และใบพลู

โดยใช้อัตราส่วนเปลือกมังคุด เปลือกหมาก ใบพลู : น้ำสุกที่เป็นตัวทำละลาย ในอัตราส่วน 40:60 และใช้น้ำสกัดที่ได้นี้ทดแทนน้ำเปล่า เพื่อทดลองการชะลอการเกิดเชื้อรา โดยใช้ แป้ง 100 g. ต่อสารสกัด 40 ml.