การพัฒนาชุดทดสอบสารฟอกขาวในอาหารอย่างง่ายโดยใช้การทดสอบเชิงสี

ชื่อนักเรียนผู้จัดทำโครงงานวิทยาศาสตร์

ชญาดา ศิริภัทระกุล, ฐิติภา สิมตะมะ

อาจารย์ที่ปรึกษาโครงงานวิทยาศาสตร์

ธีระวุฒิ จันทะพันธ์, สุกัญญา กึ่งกลาง

โรงเรียนที่กำกับดูแลโครงงานวิทยาศาสตร์

โรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย มุกดาหาร

ปีที่จัดทำโครงงานวิทยาศาสตร์

พ.ศ. 2565

บทคัดย่อโครงงานวิทยาศาสตร์

สารฟอกขาวเป็นสารเคมีที่นิยมใส่ในอาหารเพื่อใช้เป็นสารกันบูด โดยเป็นสารที่หากตกค้างจะก่อให้เกิดอันตรายถึงขั้นเสียชีวิตได้ องค์กรอนามัยโลกรวมถึงองค์การอาหารและเกษตรสหประชาชาติจึงได้มีการกำหนดปริมาณสารฟอกขาวในรูปของซัลไฟต์ที่เราสามารถรับเข้าไปในแต่ละวันและไม่ก่อให้เกิดอันตราย คือไม่เกิน 0.7 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัมของน้ำหนักร่างกาย (FAQ-WHO, 2007) ซึ่งสามารถตรวจวัดได้หลายวิธี เช่น วิธีเซนเซอร์วัดสี(Colorimetic sensor) คือการใช้ตัวกลางทำปฏิกิริยากับสารฟอกขาว จากนั้นวัดสีที่เปลี่ยนแปลงไป หรือการใช้เครื่องสเปกโทรโฟมิเตอร์ (Sadegh & Schreck, 2003) แต่เครื่องตรวจวัดชนิดนี้มีข้อจำกัดหลายอย่าง เช่น มีราคาสูง มีขนาดใหญ่ยากต่อการพกพา และผู้ใช้ต้องมีความรู้ความเชี่ยวชาญ จากปัญหาข้างต้น คณะผู้จัดทำจึงได้คิดพัฒนาชุดทดสอบสารฟอกขาวที่ราคาไม่แพง พกพาสะดวก และใช้งานง่าย โดยใช้ครัยโอเจลเป็นตัวดูดซับรีเอเจนต์ DTNB แล้ววัดและวิเคราะห์สีที่เปลี่ยนไปด้วยโปรแกรม image J จากการศึกษาพบว่า ชุดทดสอบครัยโอเจลนี้สามารถตรวจวัดการปนเปื้อนสารฟอกขาวในตัวอย่างได้จริง โดยหากสารที่นำมาทดสอบมีสารฟอกขาว ชุดทดสอบจะมีการเปลี่ยนสีจากสีขาวเป็นสีเหลืองตามปริมาณของสารฟอกขาว จากนั้นเมื่อนำภาพที่ถ่ายได้จากเครื่องแสกนไปวิเคราะห์สีที่เปลี่ยนแปลงไปด้วยโปรแกรม image J และนำข้อมูลไปสร้างกราฟมาตรฐานแสดงความสัมพันธ์ระหว่างความเข้มสีกับความเข้มข้นของสารฟอกขาวโดยใช้โปรแกรม Exel จะได้สมการเส้นตรง เมื่อนำความเข้มสีของสารตัวอย่างที่ไม่ทราบปริมาณสารฟอกขาวไปวิเคราะห์จากสมการเส้นตรงดังกล่าว จะได้เป็นปริมาณสารฟอกขาว ซึ่งทำให้สามารถตรวจวัดสารฟอกขาวที่ปนเปื้อนในอาหารประเภทต่างๆด้วยวิธีการที่สะดวก ค่าใช้จ่ายไม่แพงและทำได้ง่าย