สารเคลือบเนื้อสดเพื่อยืดอายุเเละไล่เเมลงวันจากสารสกัดเเทนนินเเละไคโตซาน

ชื่อนักเรียนผู้จัดทำโครงงานวิทยาศาสตร์

ณัฐชุดา อินทร์สร, นวพรรษ พูลเพิ่ม

อาจารย์ที่ปรึกษาโครงงานวิทยาศาสตร์

ณัฐภัสสร เหล่าเนตร์

โรงเรียนที่กำกับดูแลโครงงานวิทยาศาสตร์

โรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย พิษณุโลก

ปีที่จัดทำโครงงานวิทยาศาสตร์

พ.ศ. 2561

บทคัดย่อโครงงานวิทยาศาสตร์

แนวคิดที่มา

เนื้อสัตว์หรือเนื้อตากแห้งเป็นหนึ่งในวัตถุดิบสำหรับประกอบอาหารที่อุดมไปด้วยโปรตีน สารอาหารที่ให้พลังงานแก่ร่างกาย(ศูนย์วิจัยและประเมินความเสี่ยงด้านอาหารปลอดภัย,2556) เนื่องจากเนื้อสัตว์นั้นมีอายุการเก็บรักษาสั้น คนไทยสมัยก่อนจึงคิดหาวิธีการยืดอายุการเก็บรักษาเนื้อสัตว์ให้นานขึ้น โดยนำเนื้อสัตว์ไปตากแดดให้แห้ง ซึ่งเป็นวิธีถนอมอาหารอย่างหนึ่งที่ใช้จนถึงปัจจุบัน ถึงแม้ว่าปัจจุบันจะมีวิธีการถนอมอาหารแล้ว แต่ปัญหาหลักที่ส่งผลให้คุณค่าทางโภชนาการของเนื้อเหล่านี้ลดลง คือแมลงวัน โดยที่เหล่าแมลงวันจะปล่อยน้ำลายออกมา เพื่อใช้ย่อยอาหาร แล้วดูดกิน โดยเฉพาะอย่างยิ่งแมลงวันหัวเขียว ชอบกินอาหารจำพวกเนื้อสัตว์ และแมลงวันเหล่านี้ สามารถนำโรคมาสู่มนุษย์ หรือสัตว์เลี้ยงได้ โดยถ่ายทอดเชื้อโรคที่ติดมากับลำตัว, ปาก หรือขาของแมลงวัน ทำให้เกิดโรคต่าง ๆ หลายชนิด เช่น โรคระบบทางเดินอาหาร

จากการศึกษางานวิจัยที่เกี่ยวข้องพบว่า สารประกอบคอนเดนส์แทนนิน พบได้ทั่วไปในโปรตีนพืชอาหารสัตว์โดยเฉพาะอย่างยิ่งพืชเขตร้อน โดยปกติสารคอนเดนส์แทนนินจะมีรสฝาดทำให้แมลง เชื้อรา หรือเชื้อโรคต่างๆ และสัตว์ไม่ชอบ(พิพากษา มาลา, 2560) นอกจากนี้ยังพบว่า สารแทนนินมีคุณสมบัติช่วยตกตะกอนโปรตีน โดยสามารถไปตกตะกอนเอนไซม์ที่ใช้ย่อยในกระเพาะอาหารของแมลงมีผลทำให้ลดการระบาดของแมลงศัตรูพืชได้ สารแทนนินจึงเป็นสารทุติยภูมิ (secondary metabolite) ที่พืชผลิตขึ้นมาเพื่อใช้ป้องกันตัวเองจากแมลงและป้องกันเชื้อโรคแมลง

ไคติน (Chitin) เป็นสารประกอบเชิงซ้อน (High polymer) ของ (เบต้า-1,4-N-acetyl-D-glucosamine) จัดเป็นพวกสารอินทรีย์โมเลกุลใหญ่ยาว (Linear macro - molecular biopolymer) ที่มีโครงสร้างคล้ายเซลลูโลส ทำให้ไคตินไม่สามารถละลายได้ในน้ำและสารละลายอินทรีย์ เมื่อแยกเอาหมู่อะเซทิลออกมาจะได้สารชื่อว่า “ ไคโตซาน ” ซึ่งมีคุณสมบัติที่น่าสนใจคือ การควบคุมการปลดปล่อยฤทธิ์ยาในตำแหน่งเฉพาะที่ของโรค นอกจากนี้ไคโตซานมีลักษณะของพลาสติกใสและยืดหยุ่นได้ ทนความร้อนได้สูง สามารถขึ้นรูปได้หลายแบบ เช่น แผ่นเยื่อบาง เจล และแคปซูล เป็นต้น ไคโตซานไม่เป็นพิษต่อสิ่งมีชีวิตและย่อยสลายได้ตามธรรมชาติ (สิริรัตน์ จงฤทธิพร,2549)

ด้วยปัญหานี้เราจึงเกิดแนวคิดที่จะนำสารทั้งสองมาทำการทดลองร่วมกันเพื่อให้เกิดเป็นสารเคลือบเนื้อสดหรือเนื้อตากแห้งที่สามารถยืดอายุวัตถุดิบและยังสามารถไล่แมลงวันได้เพื่อลดการเกิดโรคที่มีแมลงวันเป็นตัวนำเชื้อโรคมา