การพัฒนาเส้นใยคอมโพสิตจากเศษเหลือทิ้งทางการเกษตรในการดูดซับน้ำมันเพื่อผลิตเชื้อเพลิงชีวภาพอัดแท่ง

ชื่อนักเรียนผู้จัดทำโครงงานวิทยาศาสตร์

ทัศนียวรรณ ยศปัญญา

อาจารย์ที่ปรึกษาโครงงานวิทยาศาสตร์

อรพรรณ พยัฆกุล

โรงเรียนที่กำกับดูแลโครงงานวิทยาศาสตร์

โรงเรียนเซนต์นิโกลาส

ปีที่จัดทำโครงงานวิทยาศาสตร์

พ.ศ. 2561

บทคัดย่อโครงงานวิทยาศาสตร์

การพัฒนาเส้นใยคอมโพสิตจากเศษเหลือทิ้งทางการเกษตรในการดูดซับน้ำมันเพื่อผลิตเชื้อเพลิงชีวภาพอัตแท่ง เป็นการศึกษาประสิทธิภาพของแผ่นดูดซับระหว่างชานอ้อยและไมยราบยักษ์ ซึ่งถือเป็นวัสดุเหลือทิ้งจากภาคอุตสาหกรรมเกษตรและจัดเป็นวัชพืชรุกราน นำมาผสมกับถ่านกัมมันต์ที่ผลิตได้จากเถ้าแกลบ ใบไม้แห้ง ต้นไมยราบยักษ์ และกากกาแฟ เพื่อเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพในการดูดซับและกำจัดสารปนเปื้อนของน้ำทิ้งจากภาคครัวเรือนก่อนปล่อยลงสู่สิ่งแวดล้อม จากนั้นนำแผ่นดูดซับและถ่านกัมมันต์ไปขึ้นรูปเป็นเชื้อเพลิงอัดแท่งชีวภาพ เพื่อนำไปใช้เป็นแหล่งพลังงานสำหรับชุมชน โดยแบ่งการศึกษาออกเป็น 5 ขั้นตอน ขั้นตอนที่ 1 ศึกษาอัตราส่วนของชานอ้อนและไมยราบยักษ์ต่อประสิทธิภาพในการดูดซับน้ำมัน โดยทำการศึกษาประสิทธิภาพของแผ่นดูดซับ ต่อปริมาณน้ำมันที่กรองผ่านแผ่นดูดซับลงมาในรูปของกรดไขมันอิสระ จากนั้นนำค่ากรดไขมันอิสระที่ได้ไปหาความสามารถในการดูดซับ (มิลลิกรัมของกรดไขมันอิสระ ต่อกรัมของตัวดูดซับ) ขั้นตอนที่ 2 ศึกษาขนาดของถ่านกัมมันต์จากวัสดุเหลือทิ้งต่อประสิทธิภาพของน้ำมันที่ผ่านกระบวนการกรองด้วยถ่านกัมมันต์ โดยศึกษาผลของอุณหภูมิ เวลา และขนาดอนุภาคของถ่านกัมมันต์จากวัสดุเหลือทิ้งต่อประสิทธิภาพของน้ำที่ผ่านกระบวนการกรองด้วยถ่านกัมมันต์ ขั้นตอนที่ 3 ศึกษาอัตราส่วนแผ่นดูดซับต่อผงถ่านกัมมันต์ต่อตัวประสานต่อการขึ้นรูปเชื้อเพลิงอัดแท่ง โดยเปรียบเทียบการใช้แป้งเปียกและน้ำเมล็ดแมงลักเป็นตัวประสาน ต่อการขึ้นรูปเชื้อเพลิงอัดแท่ง ขั้นตอนที่ 4 ศึกษาผลของการกระตุ้นด้วยกรดของถ่านกัมมันต์จากเศษเหลือทิ้งต่อประสิทธิภาพของเชื้อเพลิงอัดแท่ง โดยการเปรียบเทียบประสิทธิภาพในการดูดซับน้ำมัน และขั้นตอนที่ 5 ศึกษาประสิทธิภาพของเชื้อเพลิงอัดแท่งจากเศษเหลือทิ้ง โดยวัดจากปริมาณสารที่เผาไหม้ได้ ความชื้น ปริมาณเถ้า ปริมาณสารระเหย และคาร์บอนคงตัว