การศึกษาประสิทธิภาพของภาชนะจากเปลือกข้าวโพด

ชื่อนักเรียนผู้จัดทำโครงงานวิทยาศาสตร์

จิดาภา ปิ่นคุณากร, นภัสนันท์ บัวสมบุญ

อาจารย์ที่ปรึกษาโครงงานวิทยาศาสตร์

รัตนวดี โมรากุล

โรงเรียนที่กำกับดูแลโครงงานวิทยาศาสตร์

โรงเรียนสตรีวิทยา

ปีที่จัดทำโครงงานวิทยาศาสตร์

พ.ศ. 2562

บทคัดย่อโครงงานวิทยาศาสตร์

ในปัจจุบันนิยมใช้โฟมหรือพลาสติกในการบรรจุอาหาร เพราะมีน้ำหนักเบา มีความแข็งแรง สามารถป้องกันการซึมรั่วของน้ำได้ดี และยังสามารถทนต่อความร้อนได้ในระดับหนึ่ง แต่ข้อเสียของภาชนะที่ผลิตจากพลาสติกและโฟมคือ ไม่สามารถย่อยสลายได้เองตามธรรมชาติ จำเป็นต้องเผาทำลายเพื่อขจัดปัญหาขยะ ซึ่งก่อให้เกิดมลพิษทางอากาศ ทางคณะผู้จัดทำจึงคิดที่จะผลิตภาชนะจากวัสดุธรรมชาติที่สามารถใช้บรรจุอาหารได้อย่างปลอดภัยและไม่ส่งผลเสียต่อสิ่งแวดล้อม จากการศึกษาพบว่าเปลือกข้าวโพดมีเส้นใยเซลลูโลสเป็นส่วนประกอบจำนวนมาก จึงสามารถนำมาผลิตภาชนะได้ ทางคณะผู้จัดทำจึงทำโครงงานการศึกษาประสิทธิภาพของภาชนะจากเปลือกข้าวโพด โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาประสิทธิภาพของภาชนะจากเปลือกข้าวโพดที่มี ปริมาณวัตถุเชื่อมประสานที่แตกต่างกัน โดยแบ่งการทดลองออกเป็น 4 ขั้นตอน ได้แก่ ขั้นที่ 1 คือการเตรียมเปลือกข้าวโพด โดยหั่นและล้างเปลือกข้าวโพด ขั้นที่ 2 คือการเตรียมเส้นใยข้าวโพด โดยต้มเปลือกข้าวโพดที่หั่นแล้วมาต้มกับสารละลายโซเดียมไฮดรอกไซด์เข้มข้น 10 % เป็นเวลา 3 ชั่วโมง นำเปลือกข้าวโพดที่ต้มแล้วมาล้างให้สะอาดจากนั้นนำไปปั่น แล้วนำไปตากในที่โล่งจนแห้งสนิท ขั้นที่ 3 คือขั้นการขึ้นรูปภาชนะ โดยมีการทดลองทั้งหมด 4 แบบโดยใช้เปลือกข้าวโพด 3 กรัม น้ำ 30 กรัม แป้งมันสำปะหลัง 5 6 7 และ 8 กรัม การทาส่วนผสมลงบนก้นจานสแตนเลสแล้วนำไปตากในที่โล่ง จากนั้นนำเข้าเตาอบที่อุณหภูมิ 125 องศาเซลเซียส เป็นเวลา 45 นาที ภาชนะจะหลุดออกจากแม่พิมพ์เอง ขั้นที่ 4 คือขั้นการทดสอบประสิทธิภาพของภาชนะ แบ่งเป็น วิธีทางกายภาพ คือการทดสอบการซึมซับน้ำ และการทดสอบความทนทานต่อการพับขาด วิธีทางเคมี คือการทดสอบความทนต่อกรด-เบส ซึ่งจากการทดลองพบว่า ภาชนะที่ใช้แป้งมันสำปะหลัง 6 กรัม มีผิวเรียบ รูปทรงไม่บิดเบี้ยว และมีสีเหลืองอ่อน มีการทนทานต่อการพับขาดมากที่สุด และมีความทนต่อกรด-เบสได้ดีที่สุด