การศึกษาประสิทธิภาพของสารสกัดหยาบจากหญ้าดอกขาวร่วมกับสะเดาในการป้องกันและกําจัดหนอนม้วนใบกล้วย

ชื่อนักเรียนผู้จัดทำโครงงานวิทยาศาสตร์

พิมลนาฎ หมู่หมื่นศรี, สุดที่รัก สวัสดิ์นะที

อาจารย์ที่ปรึกษาโครงงานวิทยาศาสตร์

อิสญาภา ธรรพรังษี

โรงเรียนที่กำกับดูแลโครงงานวิทยาศาสตร์

โรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย พิษณุโลก

ปีที่จัดทำโครงงานวิทยาศาสตร์

พ.ศ. 2563

บทคัดย่อโครงงานวิทยาศาสตร์

กล้วยเป็นพืชที่มีการปลูกอย่างแพร่หลายในประเทศไทย ผลผลิตส่วนใหญ่ใช้บริโภคภายในประเทศ มีการส่งออกต่างประเทศทั้งในรูปแบบยังไม่แปรรูปและผลิตภัณฑ์แปรรูป รวมมูลค่าหลายร้อยล้านบาท ทั้งนี้เกษตรกรที่ปลูกกล้วยขาย พบว่ามีปัญหาเกี่ยวกับศัตรูพืชเข้าทำลายต้นกล้วย โดยเฉพาะในช่วงเดือนธันวาคมถึงเดือนกุมภาพันธ์ พบการระบาดหนักของหนอนม้วนใบกล้วยซึ่งเป็นระยะตัวหนอนของผีเสื้อกลางคืน เข้าทำลายใบกล้วย กัดกินใบกล้วยจนลีบและดำคล้ำ สร้างความเสียหายให้แก่ผลผลิตทำให้ราคากล้วยตกต่ำลง

ถึงแม้จะมีวิธีการป้องกันและกำจัดแมลงศัตรูพืช แต่เกษตรกรส่วนใหญ่มักใช้สารเคมี เพราะการใช้สารเคมีทำให้การกำจัดแมลงมีประสิทธิภาพสูง แต่ก็ก่อให้เกิดอันตรายต่อเกษตรกร ผู้บริโภคและเกิดสารเคมีตกค้างในดิน น้ำและอากาศส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม สมุนไพรจึงเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่นำมาใช้ในการป้องกันและกำจัดแมลงศัตรูพืช เพราะสารสกัดจากธรรมชาติที่นำมาใช้ไม่มีพิษต่อคนและสัตว์ และไม่ทำให้เกิดสารเคมีตกค้างในสิ่งแวดล้อม

จากการศึกษาพบว่า ยาสูบเป็นพืชที่มีสารนิโคติน ซึ่งเป็นสารที่มีฤทธิ์ในการกำจัดแมลงศัตรูพืช(ชานนท์, 2558) ชาวบ้านนิยมใช้ยาสูบมาเป็นยาฆ่าแมลง และจากการศึกษาพบว่าหญ้าดอกขาวเป็นวัชพืชที่มีสารนิโคตินเช่นกันและพบได้โดยทั่วไป สะเดามีสารอะซาดิแรคตินซึ่งเป็นสารที่มีฤทธิ์ในการป้องกันแมลงศัตรูพืช(คณิตและจารุยา, 2558) ชาวบ้านจึงนิยมใช้สะเดาเป็นสารไล่แมลง

คณะผู้จัดทำจึงมีแนวคิดที่จะทำสารสกัดหยาบจากหญ้าดอกขาวร่วมกับสะเดาในการป้องกันและกําจัดหนอนม้วนใบกล้วย อีกทั้งยังไม่ก่อให้เกิดอันตรายต่อผู้ใช้ ผู้บริโภค และไม่ก่อให้เกิดสารพิษตกค้างแก่สิ่งแวดล้อม